ยุคที่ต้องเชื่อมโยงธุรกิจ เพื่อการอยู่รอดของวันนี้

Photo by: BSIP/Universal Images Group via Getty Images
คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

 

คงได้ติดตามข่าวว่า Grab บริษัทต่างชาติที่มีข้อมูล หรือ data มาก จนปรับตัวเองเป็น microfinance ไปแล้ว ยุคนี้การขยายธุรกิจบางครั้งต้องกลับมาดูว่า ธุรกิจของเรามี asset หรือสินทรัพย์อะไรบ้าง ที่ต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ได้

ในยุคนี้ data หรือข้อมูล เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Grab จึงเปิดเป็น Grab Financial เพราะเขามีข้อมูลของคนมากพอ และเฟสแรกน่าจะเป็นการปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายย่อยในระบบนิเวศก่อน เช่น คนที่ขับรถ Grab ร้านอาหารที่มี Grab Food วิ่งอยู่แล้ว ฯลฯ

เมื่อ Grab มีข้อมูลว่า คนคนนี้ขับรถเดือนหนึ่ง ๆ ได้เงินอยู่กี่บาท ขับดีหรือไม่ดี ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้รู้พฤติกรรมของคนที่เป็นลูกค้า จึงไม่แปลกใจว่าทำไมธุรกิจปล่อยกู้ของ Grab นั้นจึงทำได้ง่าย เพราะความเสี่ยงมันต่ำจริง ๆ และเงินของคนที่มากู้ก็วิ่งอยู่บนระบบนิเวศของ Grab อยู่แล้ว

โดยมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาทำ credit scoring คือ การให้คะแนนคนแต่ละคน เปรียบเทียบเหมือนเกรดของนักเรียน

ยุคนี้ได้เริ่มเข้าสู่ยุคการทำ credit คือ คนคนหนึ่งจะมีความน่าเชื่อถือระดับไหน จะอาศัยข้อมูลจากสภาพแวดล้อม ซึ่งบางทีเจ้าตัวยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำไป จะมีการนำเอาข้อมูลต่าง ๆ รอบตัวมาประมวลผลให้รู้ว่า คนคนนั้นมี scoring หรือมีคะแนนเท่าไหร่

การขยายธุรกิจของ Grab โดยอาศัยจากธุรกิจอื่น เริ่มต้นจากรถ ต่อมามี Grab Pay มาเป็น Grab Insurance ที่ทำเกี่ยวกับประกัน แล้วจึงมาทำเรื่องไฟแนนซ์ เมื่อดูให้ดีจะเห็นว่า Grab นั้นเข้าใกล้การเป็นธนาคารมากแล้ว เหลือก็แต่เรื่องของการฝากเงินอย่างเดียวเท่านั้น ในอนาคต Grab อาจมีการปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหญ่ได้ด้วยเหมือนกัน

วันนี้มาถึงจุดที่หลายธนาคารกลัวกันมาโดยตลอดใน 1-2 ปีที่ผ่านมา และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ว่าทำไมธนาคารจึงต้องลุกขึ้นมาเปิดบริการต่าง ๆ มากขึ้น เพราะกลัวในสิ่งที่ Grab ได้ทำแล้วในวันนี้ อยากบอกว่านอกจาก Grab แล้ว ยังจะมีอีกหลายคนที่กำลังจะเดินตามมาไม่ว่าจะเป็น LINE, Get ยังมีบริษัทอีกมากมายที่พร้อมทำแบบนี้

ดังนั้นจะเห็นว่าธนาคารต่าง ๆ ก็มีวิธีการที่จะทำให้ไม่ตกขบวน หรือต้องไปแข่งขันกับบริษัทเหล่านี้ อย่างที่ผ่านมาธนาคาร MUFG (Mitsubishi UFJ Financial Group) ของญี่ปุ่น ได้ไปลงทุนใน Grab มูลค่ามากกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 22,000 ล้านบาท) หรือแม้แต่ KBank หรือเซ็นทรัลเอง ก็ไปลงทุนใน Grab จะเห็นว่าทุกคนจะใช้วิธีการคือเมื่อสิ่งนี้มาแล้ว หากแข่งไม่ได้ก็เกาะหรือเกี่ยวไปเลย จะได้เติบโตไปด้วยกัน หรือพึ่งพาอาศัยกันได้

ผมมองว่านี่เป็นวิธีคิดของยุคนี้ ยุคที่ต้องพยายามไปเกาะเกี่ยวกันไว้ เมื่อเราเริ่มเห็นว่าเขาจะมากินหรือมาดิสรัปต์ ทำไมจะปล่อยให้เขามากินเรา ทำไมเราไม่ไปอยู่กับเขา หรือไปเกาะเกี่ยวกับเขาไปก่อน เมื่อไปอยู่กับเขาแล้วสักระยะหนึ่ง เราจะมองเห็นได้ว่าเขามีการออกเดินทางอย่างไร เราเองก็จะสามารถปรับธุรกิจของเราได้ง่ายมากขึ้น ง่ายมากกว่าการที่ไม่ได้ไปลงทุนอะไรกับเขาเลย มัวแต่ยืนอยู่ข้างนอกรอวันตาย

จุดนี้ผมอยากฝากทุกท่านว่า การลงทุนหรือการเชื่อมโยงกับธุรกิจที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับเรา แต่มันอาจเกี่ยวข้องกับเราในอนาคต ก็เป็นหนทางรอดอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เรามีอะไรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาได้ด้วยเหมือนกัน

อยากให้คุณลองดูว่า ธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้มีธุรกิจดิจิทัลอะไร หรือธุรกิจอะไรที่อยู่ในระบบนิเวศ หรืออยู่ในระบบซัพพลายเชนเดียวกับเรา แล้วลองไปลงทุนดูครับ เพื่อทำให้มันครบในแง่ของแวลูเชน เพื่อที่คุณจะได้เห็นว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นบ้างในห่วงโซ่ธุรกิจของเรา จะมีผลกระทบอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง

การทำธุรกิจในวันนี้จะทำแค่จุดหนึ่งไม่พอ การทำให้เราเห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมเราที่ดีมากทางหนึ่ง คือ เข้าไปร่วม หรือมีพาร์ตเนอร์ หรือไปลงทุน แต่ผมคิดว่ายิ่งเรามีส่วนร่วมกับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเราในหลากหลายรูปแบบมากเท่าไหร่ จะทำให้เราเห็นภาพอุตสาหกรรม หรือการขยับของอุตสาหกรรมของเราได้เร็วขึ้นกว่าคนอื่น