5G-กม.คุ้มครองข้อมูล ดันตลาด “คลาวด์” โตไม่หยุด

การหันมาใช้ “คลาวด์” ขององค์กรต่าง ๆ ในไทย ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันได้อย่างดี คือ รายได้ในประเทศไทยของ “เน็ตแอพ” ผู้ให้บริการ data management บนมัลติไฮบริดคลาวด์ที่เติบโตอย่าง “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

ขณะที่ในปีนี้ “วีระ อารีรัตนศักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตแอพ ประจำประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย ยังระบุว่า จะยังคึกคักต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงินภาคการผลิต และภาครัฐ รวมไปถึงองค์กรอื่นที่ล้วนเกิดจากการตื่นตัวขององค์กรที่จะ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” เพราะทุกองค์กรตระหนักแล้วว่าต้องใช้ “ไอที” เป็นเครื่องมือในการแข่งขันสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ ไม่ใช่แค่มาซัพพอร์ตการทำธุรกิจอย่างเดียว

ทั้งยังมี 5G ที่เข้ามาช่วยผลักดันตลาดในอีกทาง เนื่องจาก 5G ทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุค 3G-4G ซึ่ง 5G จะยิ่งทำให้เกิดปริมาณข้อมูลอย่างมหาศาลที่แต่ละองค์กรต้องบริหารจัดการและนำไปวิเคราะห์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

และยิ่งในเดือน พ.ค.นี้ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยจะมีผลบังคับใช้ ทุกองค์กรยิ่งตระหนักเรื่องการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งปัจจุบันหลายองค์กรก็ยังมีความกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลไว้ภายนอกองค์กร จึงทำให้เกิดการผสมผสานการใช้งานคลาวด์ในรูปแบบ “มัลติไฮบริดคลาวด์” คือสามารถเคลื่อนย้ายข้อมูลไปมาระหว่างเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทกับคลาวด์ที่องค์กรใช้งานได้

“เป็นเทรนด์ขององค์กรทั่วโลกที่จะไม่ใช้งานบนคลาวด์แบบ 100% แต่ยังสามารถเคลื่อนย้ายข้อมูลไปมาได้อย่างอิสระ โดยเน็ตแอพเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นจัดการข้อมูลบนมัลติไฮบริดคลาวด์เจ้าเดียวที่ให้บริการได้บนการใช้งานของผู้ให้บริการคลาวด์ 3 เจ้าใหญ่ คือ Azure, Google และ AWS”

โดยเน็ตแอพมีบริการ “NetApp Keystone” ให้ลูกค้าเลือกใช้ได้ว่าจะบริหารจัดการดาต้าเองหรือจะให้เน็ตแอพจัดการให้ ทั้งยังเลือกได้ว่าจะเก็บข้อมูลไว้ในคลาวด์หรือเซิร์ฟเวอร์ในองค์กร โดยยังคงจุดเด่นของคลาวด์ คือมีค่าใช้จ่ายแบบ pay per used ซึ่งหากต้องการเก็บข้อมูลไว้ในองค์กร เน็ตแอพจะยกระบบมาติดตั้งให้ทั้งหมด เสมือนมีดาต้าเซ็นเตอร์ของตัวเองโดยที่องค์กรไม่ต้องลงทุนซื้อฮาร์ดแวร์ใด ๆ

ขณะเดียวกัน ยังมีบริการใหม่ที่จะรองรับการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นั่นคือ “cloud compliance”ที่ใช้ AI มาสแกนตรวจสอบข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจหลุดรอดไปจากกระบวนการจัดเก็บตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

“พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ เป็นประเด็นใหญ่เพราะมีโทษทางอาญาด้วยไม่ใช่แค่โทษปรับ ยังมีโทษจำคุก แต่ละองค์กรจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่างมาก ทั้งในแง่การวางกระบวนการเก็บ-ใช้ ข้อมูล การขอคำยินยอม โดยเฉพาะการจัดการกับข้อมูลที่มีอยู่ก่อนหน้าซึ่งกระจัดกระจายหลายที่มาและที่เก็บ อาจจะมีที่เล็ดลอดไป cloud compliance จะช่วยตามเก็บได้หากองค์กรมีช่องโหว่”

กิตติ์ ชสิธภนญ์ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค ประจำประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย กล่าวและว่า ในช่วงแรกจะเป็นบริการที่เปิดให้สำหรับลูกค้าเน็ตแอพที่ใช้บริการคลาวด์ของทั้ง Google, AWS, Azure ใช้งานฟรี