เจ้านายที่ดีที่สุด

ภาพ Pixabay
คอลัมน์ สตาร์พอัพปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ปี 2015 “แดน ไพรส์” เจ้าของ Gravity Payments สตาร์ตอัพที่ให้บริการรับชำระเงินบัตรเครดิต ตัดสินใจปรับค่าจ้างพนักงานทั้งหมดขึ้นเป็น 7 หมื่นเหรียญต่อปี โดยยอมลดเงินเดือนตัวเองปีละ 1 ล้านเหรียญ

เหตุการณ์ที่จุดประกายให้เขาตัดสินใจแบบนั้น มาจากบทสนทนากับเพื่อนคนหนึ่งระหว่างไปปีนเขาด้วยกันว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจรุมเร้า ขนาดวิ่งรอกทำงานวันละ 2 ที่ ก็ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง แดนฟังแล้วโกรธแทน เพราะเพื่อนคนนี้เคยรับใช้กองทัพมาถึง 11 ปี ไปประจำการที่อิรักมา 2 รอบ แต่แทนที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติ กลับพบว่าหลังลาออกก็ยังต้องทำงานงก ๆ เพื่อประทังชีวิต

“แดน” ก็ฉุกคิดได้ว่า ตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบี้ยวนี้เช่นกัน เพราะในวัยแค่ 31 ปี เขาจัดเป็นนักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จ ไลฟ์สไตล์จึงไม่ต่างจากคนรวยทั่วไป

แน่นอนว่าการคุยไม่กี่ชั่วโมง คงไม่ทำให้เปลี่ยนความคิดได้ หากไม่มีใจอยู่แล้ว แต่ “แดน” เคยขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 20% มาก่อนแล้ว การคุยกับเพื่อนครั้งนี้กระตุ้นให้เขาอยากทำมากกว่าเดิม เพื่อให้เกิด impact ด้านการลดช่องว่างทางสังคม ซึ่งเขามองว่าเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

ก่อนปี 1995 คนจนกว่าครึ่งหนึ่งของอเมริกามีรายได้รวมมากกว่าคนรวยที่มีราว 1% แต่หลังจากนั้นตัวเลขกลับเป็นตรงกันข้าม ปัจจุบันคนรวย 1% ครอบครองทรัพย์สินมากกว่าคนกว่า 90% ของประเทศ

“แดน” อ้างอิงตำราของนักเขียนรางวัลโนเบลอย่าง Daniel Kahneman และ Angus Deaton ที่ว่าด้วยเรื่องรายได้ขั้นต่ำที่ทำให้คนมีความสุขในการคำนวณรายได้ใหม่ให้พนักงาน จนสุดท้ายตกผลึกที่ตัวเลข 7 หมื่นเหรียญต่อปี ตอนนั้นทั้งบริษัทมีพนักงาน 120 คน หมายความว่าเขาต้องหั่นเงินเดือนตัวเองลงมา จากปีละล้านเหลือ 7 หมื่น เอาบ้าน 2 หลังไปจำนอง เอาเพนต์เฮาส์สุดหรูไปปล่อยเช่าผ่าน Airbnb ทุบกระปุกเอาเงินเก็บออกมาโปะ และขายหุ้นออกไปจำนวนหนึ่งถึงจะพอ

วันที่เขาประกาศข่าวดีนี้ออกไป “แดน” หวังว่าจะได้เห็นพนักงานยินดีปรีดา แต่การกลับเป็นว่า ทั้งห้องเงียบกริบเหมือนไม่มีใคร “เก็ต” จนเมื่อเขาพูดซ้ำอีกหน ทั้งห้องก็กระหึ่มด้วยเสียงตะโกนโห่ร้องที่ดีใจสุด ๆ

จนถึงวันนี้ แดนไม่เคยเสียใจที่ตัดสินใจ (ถึงจะยอมรับว่า คิดเลขผิด ตามตำราต้องเพิ่มเป็น 75,000 เหรียญ)

ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานเพิ่มขึ้น 2 เท่า ปริมาณเงินที่ไหลผ่านช่องทางรับชำระเงินเพิ่มขึ้นจาก 3.8 หมื่นล้านเหรียญ ไปแสนล้านเหรียญต่อปี

แต่ที่สำคัญที่สุด คือ พนักงานของเขามีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อก่อนพนักงานไม่ค่อยยอมมีลูกเพราะรายได้ไม่พอ แต่หลังประกาศเพิ่มเงินเดือน บริษัทมีทายาทตัวน้อยเพิ่มขึ้นถึง 40 คน และ 5 ปีที่ผ่านมา มีพนักงานกว่า 10% ที่เก็บเงินซื้อบ้านในเมืองที่ค่าที่ดินแพงมหาโหดได้ แถมพนักงานทั้งหมดยังสมัครใจจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และมีถึง 70% ที่เก็บหอมรอมริบจนสามารถปลดหนี้ได้

“แดน” ยังรู้สึกได้ถึงพลังเชิงบวกที่พนักงานแสดงออกผ่านผลงาน ซึ่งสะท้อนเป็นรายได้ของบริษัทที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้แดนได้ข้อสรุปว่า การขึ้นเงินเดือนไม่ใช่ motivation เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน แต่เป็นการเพิ่มขีด “ความสามารถ” จากเดิมคิดว่า “ต้องไปทำงานเพื่อหาเงิน” กลายเป็นคิดว่า “จะทำงานของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างไร”

ถึงสื่อจะประโคมข่าวครึกโครม ตั้งสมญานามให้แดน เป็น “เจ้านายที่ดีที่สุดของอเมริกา” แต่ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชม อย่างน้อยมีพนักงานเก่าแก่ 2 คนที่ลาออก เพราะรับไม่ได้ที่พนักงานใหม่จะได้ปรับเงินเดือนเท่ากับตัวเอง และทำให้เจ้าของธุรกิจไม่พอใจ แม้กระทั่ง ดีเจ.รายการวิทยุที่แดนเป็นแฟนคลับ ยังด่าเขาออกอากาศปาว ๆ ว่า เป็นคอมมิวนิสต์ หรือพวกสังคมนิยมสุดโต่ง


แต่แดนก็ยังยืนยันในความเชื่อของตนเองต่อไป วันนี้เขายังเดินหน้าหาแนวร่วม และยังรับเงินเดือนขั้นต่ำเช่นเดียวกับพนักงาน ที่น่าสนใจ คือ เขาไม่ได้มองว่าตัวเขา เป็น “ผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่” เพราะตัวเองก็ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งในแง่การเติบโตของบริษัท และ “ความสุขทางใจ” ที่เติมเต็มชีวิตให้เขารู้สึกเต็มอิ่มยิ่งกว่าตอนมีเงินเดือนเป็นล้านเสียอีก