ดีอีเอส-กสทช. สกัดไวรัสโควิด-19 บังคับต่างชาติ-คนไทยจากปท.เสี่ยงต้องโหลดแอป หวังตรวจสอบการระบาด

กระทรวงดิจิทัลจับมือ กสทช. ค่ายมือถือ ผุดแอปพลิเคชั่นสกัดไวรัสโควิด-19 บังคับต่างชาติ-คนไทยจากประเทศเสี่ยงต้องโหลดแอป-กรอกข้อมูล พร้อมให้ภาครัฐติดตามตัวได้ทันที

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ได้ร่วมประชุมกับ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) , บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) , บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด , บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด รวมถึง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับแนวทางเฝ้าระวังการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะใช้แอปพลิเคชั่นของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย “AOT Airports” ที่ได้พัฒนาฟีเจอร์พิเศษสำหรับสถานการณ์นี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ชาวต่างชาติ “ทุกคน” ที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางท่าอากาศยาน จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นและกรอกข้อมูลเพื่อให้ภาครัฐสามารถติดต่อ ติดตามตรวจสอบย้อนกลับได้ หากพบความเสี่ยงจากการระบาดของโรคในภายหลัง ขณะที่ผู้เดินทางชาวไทยที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานนั้น จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นและกรอกข้อมูลเฉพาะ “ผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง  ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดต่อโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019  หรือ โควิด-19

“ชาวต่างชาติ ถ้าโรมมิ่งเบอร์โทรศัพท์เข้ามาใช้ในประเทศไทย และดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทันที  หากไม่ได้โรมมิ่งมากได้ขอความร่วมมือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยทั้ง 5 ราย ขายซิมการ์ดในราคาเริ่มต้นที่ 49 บาท สามารถใช้งานได้ 14 วัน ณ จุดควบคุมโรค เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทันที  และจะมีการตรวจสอบว่ามีการกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วหรือไม่ก่อนผ่านด่าน ตม. โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมไว้ ณ กรมควบคุมโรค โดยจะเริ่มบังคับใช้ 12 มี.ค. นี้”

ส่วนกรณีที่การเดินทางเข้าประเทศไทยโดยผ่านด่านภาคพื้นดิน จะใช้วิธีการกรอกแบบฟอร์ม ตม.8  แทน  โดยปัจจุบันมีผู้เดินทางเข้าประเทศผ่านทุกด่านตรวจคนเข้าเมือง อยู่ที่ราว 7 หมื่นคนต่อวัน แยกเป็นชาวไทยประมาณ 2 หมื่นคน และชาวต่างชาติประมาณ 5 หมื่นคน

กรณีที่ผู้เดินทางเข้าประเทศไม่ให้ความร่วมมือ  สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สามารถบังคับสั่งห้ามไม่ให้เข้าประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 12(7) พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง

“หากเกิดกรณีที่มีความเสี่ยง กรมควบคุมโรคก็จะแจ้งข้อมูลกลับมาที่ กสทช. ทาง กสทช. ก็จะประสานงานไปยัง ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย เพื่อให้ทราบว่าบุคคลนั้นใช้เครือข่ายไหน และจะได้ติดตามได้ว่าบุคคลนั้นอยู่ในพื้นที่ใดในประเทศไทย”