เลือก “โซเชียล” ให้ถูกจริต กลยุทธ์ปั้น “แบรนด์” ตามเทรนด์

กลายเป็นงานใหญ่ประจำปีของแวดวงโซเชียลไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ Thailand Zocial Awards 2020 ที่ครั้งนี้อัพเดตเทรนด์อย่างจัดเต็มกับ forum day ไม่ใช่แค่ยอดใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยเพิ่ม 36% มีข้อความทั้งปี 2562 กว่า 7.2 ล้านข้อความ เส้นแบ่งประเภท “อินฟลูเอนเซอร์” ยุคนี้เบลอลงไปเรื่อย ๆ เพราะล้วนเสนอเนื้อหาคาบเกี่ยวอย่างน้อย 2 หมวดหมู่ “เพลงลูกทุ่ง” คือดาวรุ่งพุ่งแรง

ใช้โซเชียลให้ถูก “จริต” User

แต่ “เอมี่ สิทธิเสนี” Country Head (Twitter) Thailand at Media Donuts ระบุว่า การเลือกช่องทางโซเชียลมีเดียให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ อย่าง “ทวิตเตอร์” ที่มียอดใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานถือเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่ผู้คนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแบบ “ทันท่วงที” และเป็นจุดเริ่มต้นของหลาย talk of the town

ปีที่ผ่านมา มีบทสนทนาบนทวิตเตอร์กว่า 1,400 ล้านข้อความ และล่าสุดคือ “ไวรัสโคโรน่า” ที่ในไทยถูกพูดถึงกว่า 2 ล้านข้อความ ภายใน 2 สัปดาห์ แสดงถึงความสนใจในเรื่องใกล้ตัว

ฉะนั้น สิ่งที่แบรนด์จะต้องปรับตัว คือ การเชื่อมโยงแบรนด์เข้ากับพฤติกรรมและวัฒนธรรมของผู้บริโภค ทั้งผู้บริโภคยังต้องการสิ่งที่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองได้ ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคกว่า 41% ระบุว่า นิยมบอกต่อ และจดจำแบรนด์ที่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง และต้องสามารถทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแบรนด์ด้วย

Circle of Trust

ขณะที่ “กฤษณะ งามสม” Head of Advertising Technology, LINE Thailand กล่าวว่า circle of trust เป็นทฤษฎีที่มีมาอย่างยาวนาน บ่งบอกถึงวงแหวนแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจของความสัมพันธ์ของคนที่อยู่รอบตัวเรา LINE ได้นำเอาทฤษฎีนี้มาผนวกรวมกันกับแพลตฟอร์มของตนเองเพื่อให้นักการตลาดได้เข้าใจ เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในตลาด และสามารถเพิ่มยอดขายให้ตนเองได้

ในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่มีความท้าทายในการทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจาก GDP เติบโตลดลง ทั้งปีนี้ก็คาดว่าจะยิ่งลดลงเหลือเพียง 2% บ่งชี้ถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดน้อยลง ในขณะที่มีช่องทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง อย่างซัพพลายเออร์จากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทยเยอะมาก เช่น Ali Express มีซัพพลายเออร์กว่า 2.8 ล้าน มีหมวดสินค้ากว่า 5,900 หมวด และยังมีกลุ่ม SMEs ในประเทศไทยที่มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.9%

ขณะที่ผลการสำรวจพบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์ คือ ความไว้วางใจ ซึ่งพบว่า 77% เชื่อมั่นการซื้อขายผ่านโทรศัพท์ 65% มีความเชื่อมั่นในแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการพูดคุย และ 45% เชื่อมั่นในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น การส่งข้อความแชตพูดคุยกันยังถือเป็นช่องทางที่มีความสำคัญ ที่ผู้คนเกิดความเชื่อถือและมั่นใจที่จะสามารถพูดคุยในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจหรือเรื่องส่วนตัว โดยกว่า 68% ของผู้บริโภค ระบุว่า เชื่อถือการสนทนาผ่านแพลตฟอร์มของไลน์มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ

ดังนั้น สิ่งสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคในตลาด คือ แบรนด์ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับผู้บริโภคให้ได้ ผ่านการสนทนาที่ไม่ใช่เพียงแค่การขายสินค้าเท่านั้น แต่จะต้องใส่ใจและติดตามกระบวนการซื้อขายสินค้าของผู้บริโภคอย่างครบวงจรด้วย

ตั้ง “เป้าหมาย” การใช้ Data

“อภิศิลป์ ตรุงกานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ Pantip.com ระบุว่า ยุคนี้ data เสมือนเป็นน้ำมันที่เมื่อแรกเริ่มเป็นน้ำมันดิบ ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ จึงต้องมีการแปรรูปนำมาแยกแยะหรือจัดรูปแบบก่อนเพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์ต่อได้

ปัจจุบันในหลายธุรกิจมี “data” อยู่แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อย่างไร สิ่งแรกคือ ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ธุรกิจของตนเองนั้นต้องการอะไร แล้วจึงจะสามารถไปดูว่า data ที่เก็บเอาไว้นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้อย่างไร

ได้บ้าง ตามหลักโมเดล DIKW หรือ data information knowledge wisdom ให้นิยามว่า data (ข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป) เมื่อนำมาแยกแยะอย่างเป็นระบบจะกลายเป็น information (สารสนเทศข่าวสาร) และเมื่อนำสารสนเทศข่าวสารมาผ่านกระบวนการประมวลผล จะเปลี่ยนแปลงเป็น knowledge (ความรู้) เมื่อมีความรู้แล้วจึงจะพัฒนาการไปสู่ wisdom (ภูมิปัญญา)

ในกรณีของ Pantip นั้นก็มี community ค่อนข้างมาก แบ่งเป็นกลุ่มความสนใจกว่า 38 กลุ่ม ครอบคลุมความสนใจของคนไทยในทุกแง่มุม ซึ่งถ้าแบ่งเป็น tag จะพบว่า ปัจจุบันมีประมาณ 20,000 tag

“สิ่งที่ Pantip ต้องการ คือ ทำให้ผู้ใช้งานกลุ่มนี้มีปฏิสัมพันธ์กับ Pantip ได้ยาวนานมากขึ้น”

ดังนั้น สิ่งที่ Pantip ต้องทำคือสร้างการประมวลผลจากคำถามขึ้นมาว่า กลุ่มความสนใจไหนคือกลุ่มที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานเหล่านี้ ผ่านวิธีการที่เกิดจากการศึกษาดูพฤติกรรมของผู้ใช้งานว่าก่อนหน้านี้ผู้ใช้งานใช้งานกระทู้ไหนบ้าง

โดย Pantip มีฟีเจอร์อย่างหลากหลายในปัจจุบันที่จะนำเสนอเนื้อหาให้กับผู้ใช้งาน อาทิ ฟีเจอร์ Pantip trend ที่เกิดจากการประมวลผลของ data โดยที่เอา data มาแยกแยะดูว่าในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ผู้ใช้งานนิยมเข้าไปดูคอนเทนต์ไหนบ้าง รวมถึงในฟีเจอร์ “กระทู้โปรด” ซึ่งจะทำให้ Pantip สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้ไช้งานเฉพาะคนได้