กรมควบคุมโรคผนึกกำลัง “กสทช.” ส่งรายชื่อกลุ่มเสี่ยงCOVIDเช็คพิกัด”กักตัว”แบบเรียลไทม์

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประชุมหารือร่วมกัน กับ กรมควบคุมโรค และ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย  เกี่ยวกับมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงข้อสรุปภายหลังการประชุมว่า

1.บุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ได้แก่ เกาหลี จีน อิตาลี อิหร่าน และ สองเขตการปกครองพิเศษ มาเก๊า และ ฮ่องกง จะต้องมีการโหลดแอปพลิเคชัน AOT Airports ทุกคน โดย กสทช. จะสนับสนุนเงินจำนวน 49 บาท โดยถ้าเป็นบุคคลที่มีซิมอยู่แล้ว หรือโรมมิ่งมา จะเติมเงินเข้าไปให้จำนวน 49 บาท ให้กับบุคคลในกลุ่มนี้ และถ้าไม่มีจะแจกซิมใหม่ให้

ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง รวมกว่า 7 พันกว่าคน ซึ่ง 7 พันกว่าคนนี้ จะถูกกักตัว 14 วัน และ กสทช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายข้างต้น โดยเป็นไปตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

2. บุคคลที่เดินทางเข้ามาก่อนหน้านั้นแล้ว ที่อาจจะเล็ดลอดออกไป ตัวเลขยังไม่นิ่งอยู่ที่ประมาณ 1,300 คน กระจายทั่วทุกจังหวัด ในเบื้องต้นทางกรมควบคุมโรคมีรายชื่ออยู่แล้ว และจะมีการติดตาม โดยแจ้งมายัง กสทช. เพื่อจะประสานงานให้ได้ซิมในการใช้งาน และบุคคลกลุ่มนี้จะได้รายงานมายังกรมควบคุมโรคต่อไป

3. กรมควบคุมโรคจะส่งหนังสือแจ้งมายัง กสทช. ให้ได้รับทราบว่ากลุ่มที่มีการติดตามและกักกันในระหว่างนี้ ให้ กสทช. ได้เปิดโลเคชั่นเพื่อให้สามารถติดตามบุคคลกลุ่มนี้ได้

ทั้งนี้ บุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ไม่สามารถปฎิเสธในการไม่โหลดแอปพลิเคชันได้ เพราะอยู่ในระหว่างการควบคุม และเมื่อหลังจากครบ 14 วัน แอปพลิเคชันจะถูกลบออกไปทันที แต่ในกรณีของบุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่ไม่ได้มาจากประเทศเสี่ยง จะขอความร่วมมือให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเช่นกัน

ด้านนายขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ก่อนที่จะมีแอปพลิเคชั่น ได้ใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายอำเภอ ในทุกพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามโรค และเมื่อแอปพลิเคชั่นแล้วก็จะนำบัญชีการติดตามโดยเจ้าพนักงานจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่ มาอยู่ในแอปพลิเคชัน เพื่อได้ติดตามแบบเรียลไทม์

เมื่อพบว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง หรือออกนอกสถานที่ จะมีการส่งข้อมูลไปยังเจ้าพนักงานในพื้นที่ เพื่อติดตามทันที

“บางจังหวัด มีกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงสูง เช่น ผีน้อย ประมาณ 20-30 คน โดยเฉพาะอย่างมากในภาคเหนือและอีสาน และมีชาวต่างชาติกว่า 200-300 คน แต่ว่าทุกจังหวัดจะมีการเอ็กซเรย์ในทุกพื้นที่”