Big Data สู้ภัย COVID “ไต้หวัน” เตรียมก่อนพร้อมก่อน

(File photo)REUTERS THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. MANDATORY CREDIT.

แม้ไต้หวันจะอยู่ห่างจากประเทศจีนที่เป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เพียง 160 กิโลเมตร ทั้งแต่ละปียังมีชาวจีนหลายล้านคนเดินทางไปยังดินแดนนี้ แต่ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ ณ 18 มี.ค. เพียง 77 ราย ทำให้กลายเป็น “ต้นแบบ” ของการรับมือไวรัสนี้ ซึ่งสื่อทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น Time, NBC, Japantime หรือ Toronto Star Newspapers ยังร่วมกันถอดบทเรียนจากไต้หวัน

“Chih-Hung Jason Wang” อาจารย์กุมารแพทย์และศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นชาวไต้หวัน-อเมริกัน บรรยายวิธีรับมือโควิด-19 ของไต้หวันผ่านบทความวิชาการ ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน ซึ่งฉายภาพชัดเจนว่า “big data” คืออาวุธสำคัญของทางการไต้หวัน

ด้วยการรวมฐานตรวจคนเข้าเมืองของไต้หวันและฐานข้อมูลประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วนำมาวิเคราะห์ ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถระบุตัวตนของผู้ป่วยได้ โดยมีศูนย์บัญชาการการแพร่ระบาดของโรค (CECC) เป็นศูนย์กลางในการสั่งการ

ทั้งยังสร้างเครือข่ายการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ ที่โรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงประวัติการเดินทางของผู้ป่วยได้ทันทีเมื่อสแกนบัตรประกันสุขภาพ

และเช่นเดียวกับชาวไต้หวัน นักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางเข้ามา ก็ต้องระบุประวัติการเดินทาง 14 วัน ก่อนมาถึงไต้หวัน ซึ่งหากปกปิดอาจถูกปรับถึง 7,000 ดอลลาร์

โดยผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง จะต้องกักตัวรอดูอาการ 14 วัน ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือชาวไต้หวัน

และในระหว่างกักตัว จะต้องคอยอัพเดตอาการและมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจสอบพิกัดตำแหน่งที่อยู่ได้แบบเรียลไทม์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ทั้งยังมีผู้ดูแลแต่ละพื้นที่คอยตรวจสอบและส่งอาหารให้ถึงหน้าบ้าน

หากฝ่าฝืนการกักตัวจะมีโทษปรับสูงมาก เมื่อต้น ก.พ. มีคู่สามีภรรยาถูกปรับเป็นเงิน 13,725 ดอลลาร์

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มแสดงข้อมูลสาธารณะที่เป็นประโยชน์ในการลดการแพร่ระบาด ทั้งการระบุสถานที่เสี่ยง จำนวนผู้ติดเชื้อ วิธีปฏิบัติตัว ที่สำคัญคือ “Instant Mask Map” แผนที่แสดงจุดจำหน่ายหน้ากากอนามัยที่อัพเดตสต๊อกแบบเรียลไทม์

ทั้งยังมีระบบให้ซื้อหน้ากากอนามัยทางออนไลน์ เพื่อแก้ปัญหาให้วัยแรงงานที่ไม่สามารถมาต่อแถวเข้าคิวซื้อได้ โดยในการซื้อหน้ากากอนามัยทุกช่องทางจะต้องใช้บัตรประกันสุขภาพยืนยันตัวตน เพราะรัฐบาลจำกัดโควตาให้สัปดาห์ละไม่เกิน 3 ชิ้นต่อคน (เด็ก 5 ชิ้น)

จากกระบวนการรับมือทั้งหมดจะเห็นได้ว่า “ข้อมูล” และการเชื่อมต่อให้ไหลเวียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างราบรื่นและเรียลไทม์ คือ หัวใจสำคัญ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย “ความเข้าใจ” และความรู้ที่จะออกแบบระบบหลังบ้านที่เกี่ยวข้องให้ “พร้อมใช้” สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นได้ภายในวันเดียว แต่ “ไต้หวัน” ได้ใช้บทเรียนจากครั้งการระบาดของโรคซาร์ส มาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เคยพบ และลงมือตั้งรับแต่เนิ่น ๆ

โดย “ไต้หวัน” ตั้งศูนย์บัญชาการตั้งแต่ 20 ม.ค. ตั้งแต่ยังไม่ชัดเจนว่า “คน” จะเป็นพาหะได้ และห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยตั้งแต่ 24 ม.ค. และคุมเข้มการเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง “ก่อน” ประเทศอื่น