รู้ทัน Fake News ไม่ตื่นตระหนก ไม่เสี่ยงติดคุก

ณวันนี้ที่ทะเลแห่งข้อมูลข่าวสารโควิด-19 ถาโถม “fake news” ก็ซัดกระหน่ำมาสร้างความแตกตื่นไม่เว้นแต่ละวัน มีทั้ง “กระทรวงสาธารณสุข ว่า…เขาว่า…” โผล่มาทางเฟซบุ๊ก LINE เว็บไซต์ รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ

“Claire Wardle” จาก First Draft องค์กรทำงานด้านการต่อต้านข่าวลวงและข้อมูลเท็จเพื่อสร้างความไว้วางใจและความจริงในยุคดิจิทัล ระบุว่า fake news ไม่ใช่แค่ “ข่าวที่ไม่จริง” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องไม่จริงที่ทำขึ้นมาให้ตลก เสียดสี เพื่อความสนุกสนาน ซึ่งผู้รับก็ทราบดีว่าเป็นเรื่องไม่จริงแต่ก็อยากจะอ่านและแชร์กันขำ ๆ แต่หลายครั้งคนที่ตกเป็นเหยื่อก็ไม่ขำด้วย เพราะอับอาย ถูกดูหมิ่น ถูกประจาน กลายเป็น cyberbullying หรือ hate speech

อีกประเภทคือ “เนื้อหาที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด” ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ได้ บางครั้งมีการแอบอ้างเอาบุคคลมีชื่อเสียงหรือน่าเชื่อถือว่าเป็นคนพูดหรือรับรองสิ่งนั้นสิ่งนี้ รวมถึงโยงข้อมูลจากที่ต่าง ๆ มารวมกันทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เพื่อมุ่งหวังประโยชน์บางอย่าง ไม่ว่าจะงานวิจัย ภาพเหตุการณ์เก่า ๆ ทำให้ผู้รับเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือเหตุการณ์เดียวกัน

ที่แย่ที่สุด คือ เนื้อหาที่ตั้งใจตัดต่อ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ คลิปเสียง คลิปวิดีโอ ทั้งเพื่อความสนุกสนาน หรือเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง

เช็กก่อน “หวังดี” แชร์ต่อ

ด้าน “พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ” โฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า การแพร่กระจายของ fake news ในเวลานี้ มาจากการอ่านข่าวจากห้องแชตในกลุ่มเพื่อน หรือ feed ข่าวในสื่อโซเชียลแล้วส่งต่อโดยไม่ตรวจสอบข้อมูล บางส่วนก็เกิดจากความหวังดีอยากให้เพื่อนฝูงญาติพี่น้องทราบข่าวโดยเร็ว บางส่วนก็เกิดจากความคึกคะนองที่ต้องการสร้างคอนเทนต์ที่หวือหวา บางส่วนหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวเงินด้วยการนำบุคคลที่มีชื่อเสียง ใช้หัวข้อข่าวที่น่าตกใจเพื่อดึงให้ประชาชนเข้าไปกดอ่าน เพื่อจะได้ยอดวิวเยอะ ๆ นำไปหารายได้
บางส่วนก็เป็นกระบวนการสร้าง hate speech ให้เกิดความเกลียดชังฝั่งตรงข้าม

ฉะนั้น ควรตรวจสอบ “เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์” วิธีง่าย ๆ คือ ตรวจสอบว่าเว็บไซต์สำนักข่าวหลัก ๆ ที่น่าเชื่อถือหลาย ๆ แห่งมีการเผยแพร่ข่าวแบบเดียวกันหรือไม่ สังเกตที่ URL (http://…) เพราะหลายครั้งเป็นการสร้างชื่อที่อยู่ URL ของเว็บ หรือสร้าง logo ของเว็บให้คล้ายกับสำนักข่าวใหญ่เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ ตรวจสอบข้อมูลใน Google ว่าที่ผ่านมาเคยมีการเผยแพร่ข้อมูลแบบนี้หรือไม่ โดยต้องสังเกตช่วงเวลาของข่าวด้วย เพราะหลายครั้งเป็นการเอาข่าวเก่ามาแชร์ใหม่ โดยปรับแก้เวลา ตรวจสอบกับเว็บไซต์ของหน่วยงานหรือทางราชการโฆษกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการยืนยันข้อมูลหรือไม่อย่างไร

อีกจุดสังเกตสำคัญ คือ โฆษณาในเว็บไซต์ข่าวปลอมจะเป็นโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ผิดกฎหมาย ทั้งอาหารและยา หรือเชิญชวนเล่นการพนัน

Google มีตัวช่วย

ขณะที่ “ไทยเซิร์ต” ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้ให้คำแนะนำในการสังเกต fake news โดยให้ดูความน่าเชื่อถือของเนื้อหาและการอ้างอิงที่มาอย่างชัดเจน เช่น

1.สถานที่ เวลา บุคคลที่สามที่กล่าวถึงหากไม่ระบุข้อมูลใด ๆ อาจจะเป็นไปได้ว่าตั้งใจเผยแพร่ข่าวปลอม

2.เช็กภาพจากข่าวเก่า ข่าวปลอม อาจใส่ภาพจากข่าวเก่าให้ดูน่าเชื่อถือ สามารถนำ “ภาพ” มาค้นหาข้อมูลจาก TinEye หรือ Google โหมดค้นรูป (หากใช้บราวเซอร์ Google chrome ให้คลิกขวาที่รูปภาพในข่าว จะมีหัวข้อให้เลือกคลิกว่า “ค้นหารูปภาพจาก Google” จากนั้นระบบของ Google จะบอกได้หมดว่ารูปภาพนี้เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตเมื่อใด)

3.ตรวจสอบชื่อข่าวหรือเนื้อความในข่าวมาค้นหาใน search engine อาทิ Google อาจพบเว็บไซต์แจ้งเตือนว่า ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หรือเมื่อพิจารณาดูวันที่เผยแพร่ข่าว อาจพบว่าเป็นข่าวจริง แต่เผยแพร่แล้วเมื่ออดีต

4.สอบถามหน่วยงานหรือสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือศูนย์ข่าวชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย ให้ช่วยตรวจสอบแหล่งที่มาเพื่อความมั่นใจ

“แชร์ต่อ” โทษเท่าตัวการ

นอกจากนี้ ยังย้ำด้วยว่า ผู้ที่สร้าง fake news บิดเบือนและนำเผยแพร่บนโซเชียลยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 คือ นำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วน “ผู้ส่งต่อ” โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ก็ถือว่ามีความผิดเท่ากับ “ผู้กระทำผิด” ต้องรับอัตราโทษเช่นเดียวกัน

ทั้งหากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ยังอาจจะได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย