งานร้อน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แอป track โควิด-สกัดข่าวปลอม

สัมภาษณ์พิเศษ

ภายหลังการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ การแพร่ข่าวปลอมเป็น “ข้อห้าม” ตามข้อกำหนดฉบับแรก และ “แอปพลิเคชั่น” คือเครื่องมือที่รัฐบาลระบุจะใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

“ประชาชาติธุรกิจ” อัพเดตสิ่งที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะทำภายใต้ พ.ร.ก. นี้ จาก “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” เจ้ากระทรวง

Q : งานแรกที่จะเกิดขึ้นหลัง พ.ร.ก.

แอปพลิเคชั่นติดตามคนที่ต้องเข้าข่ายกักตัวอยู่บ้าน (quarantine) โดยจะใช้แอป “AOT Airports” ที่เดิมใช้เฉพาะชาวต่างชาติหรือคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศไทย แต่ครั้งนี้ได้พัฒนาต่อยอด ให้กระทรวงมหาดไทย มอบให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเอาไปใช้กับคนที่เดินทางจากกรุงเทพฯกลับไปภูมิลำเนาต้องดาวน์โหลด และระบุสถานที่กักตัวเอง 14 วัน  ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่จะรู้กันอยู่แล้วว่า ใครเพิ่งกลับมาเน้นเฉพาะคนที่ออกจากกรุงเทพฯก่อน เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง ส่วนจะเพิ่มจังหวัดอื่น ก็จะขึ้นกับทางสาธารณสุข

Q : โหลดได้ก็ลบทิ้งได้

แต่ละจังหวัดจะมอบหมายเจ้าหน้าที่คอยมอนิเตอร์ ซึ่งจะเห็นเป็นแผนที่แสดงพิกัดเป็นจุดสีเขียว ให้ทุกวันต้องรายงานตัว 3 เวลาด้วยการถ่ายรูป ถ้าไม่ทำสัญลักษณ์จะกลายเป็นสีแดง ถ้าปิดแอปจะเป็นสีเทา ถ้าออกนอกสถานที่กักตัว 50 เมตรจะเป็นสีส้ม ระบบก็จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่มหาดไทย สาธารณสุขหรือ อสม.ในพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ

เป็นส่วนหนึ่งในการลดความเสี่ยง และยังเป็นเครื่องมือช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ให้ทำงานได้สะดวกขึ้น แทนที่จะต้องลงพื้นที่ไปแต่ละแห่งคอยเฝ้าระวังทีละคน ซึ่งต้องใช้เวลาและคนจำนวนมาก ก็จะเหลือเฉพาะคนที่ไม่มีมือถือ หรือมือถือดาวน์โหลดแอปไม่ได้ นอกนั้นเมื่อโหลดแอปแล้ว เจ้าหน้าที่ที่มอนิเตอร์จะใช้แท็บเลตดูพิกัดคน
ที่ต้องกักตัวในแผนที่ของตัวเองได้ตลอดเวลา

Q : Track พิกัดละเมิดสิทธิ

ในสถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้ทำได้ แต่เราก็เลือกเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงเท่านั้น อย่างการกลับจากกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด

และทำให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องรู้สึกปลอดภัยขึ้น ส่วนรวมปลอดภัยขึ้น เพราะถ้าไม่คุมก็จะยิ่งเกิดการแพร่กระจายของโรคมากขึ้น วันนี้ทุกคนก็กังวล เราต้องช่วยกันให้ผ่านตรงนี้ไปให้ได้

ในอนาคตถ้าสถานการณ์มันรุนแรงขึ้น ก็อาจจะต้องมีแอปพลิเคชั่นที่รบกวนความเป็นส่วนตัวของแต่ละคนมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม อย่างเช่น ทุกคนต้องมีแอปพลิเคชั่น เพื่อจะเช็กได้ว่าก่อนจะเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ เช่นร้านอาหาร ได้มีการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงมาก่อนหรือไม่ ถ้าถึงจุดที่แค่วัดอุณหภูมิมันไม่เพียงพอ

Q : แอปจะฝังอยู่นานแค่ไหน

ข้อมูลพร้อมที่จะลบได้ตลอด เดิมที่เขียนโปรแกรมไว้คือ 14 วันแล้วตัวแอปจะลบหายไป แต่ตอนนี้ต้องดูสถานการณ์วันต่อวัน เราไม่รู้ว่าไวรัสจะไปถึงแค่ไหน แล้วจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ อาจจะต้องขยับไปถึง 21 วันหรือนานกว่านั้น แต่ยืนยันว่า ถ้าถึงเวลาที่ปลอดภัยแล้วก็จะปลดออก

Q : จะมีแอปเพิ่มอีก

อีกภารกิจที่กระทรวงได้รับมอบหมายคือ การจัดการกับเรื่อง fake news ที่สร้างความแตกตื่นและความสับสนวุ่นวาย ซึ่งกระทรวงจะตั้ง war room ขึ้นมาคอยมอนิเตอร์

แต่ในขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาเว็บไซต์ ThaiFightCOVID เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อมูลทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งเปิดตัวไปแล้ว https://thaifightcovid.depa.or.th/ มีทั้งรายงานสถานการณ์ ค้นหาจุดจำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และถังออกซิเจน ที่อัพเดตสต๊อกตลอด พิกัดร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยาเพื่อจะได้หาซื้อสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นได้ ที่ตั้งโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด-19 อีกไม่กี่วันก็จะเปิดการให้บริการในรูปแบบแอปพลิเคชั่น ชื่อเดียวกัน เพื่อให้ใช้งานง่ายขึ้น

ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีหลาย ๆ เว็บไซต์หรือช่องทางออนไลน์ให้ข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ในฐานะเป็นหน่วยงานรัฐก็จะต้องสร้างช่องทางที่เป็นทางการที่เชื่อถือได้ เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ความเป็นเอกภาพของข้อมูลและความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้ว่าอาจจะดูช้ากว่าของเอกชน แต่เพราะเราต้องเช็กให้ชัวร์ ส่วนจะมีแอปอื่นอีกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

Q : หนุนทำงานที่บ้าน

ในฝั่งภาครัฐ ได้มีมาตรการให้หน่วยงานรัฐ work from home โดยหน่วยงานที่มาลงทะเบียนกับดีอีเอสจะได้ใช้แพลตฟอร์มฟรี ทั้งของไมโครซอฟท์ ซิสโก้ กูเกิล LINE และได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 3 เดือน ซึ่งมี 290 หน่วยงาน เกือบ 3 แสนยูสเซอร์มาลงทะเบียนแล้ว แต่ทางรัฐบาลต้องการผลักดันให้มีมากกว่านี้

ส่วนการสนับสนุนในภาคเอกชน กระทรวงได้หารือกับ กสทช. เรื่องจะให้โอเปอเรเตอร์ออกแพ็กเกจพิเศษ ให้ประชาชนใช้เน็ตฟรีคนละ 10 GB สำหรับมือถือและอัพสปีดเน็ตบ้านให้เป็น 100 Mbps ซึ่งจริง ๆ จะเสนอเข้า ครม.เมื่อ 24 มี.ค. แต่ทาง กสทช.ได้เสนอเรื่องมาโดยจะใช้ทั้งเงินกองทุนของ กสทช. และเงินประมูล 5G มาซับซิไดซ์ จึงต้องมีขั้นตอนหลายส่วน เพราะเงินประมูล 5G ระบุไว้ว่าต้องเข้ากระทรวงการคลัง แต่จะพยายามผลักดันให้สำเร็จ