RTS “ขยะ” ไม่ใช่ขยะ

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา”ทำ “เงิน” โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

อะไรก็กลายเป็นเงินเป็นทองได้ในโลกของสตาร์ตอัพ ไม่เว้นแม้แต่ “ขยะ”

RTS (Recycle Track Systems) คือผู้เล่นรายใหม่ในวงการขยะที่อเมริกา ซึ่งว่ากันว่าถ้ารวมทั้งการจัดเก็บ การคัดแยก และการกำจัดแล้ว ทั้งตลาดจะมีมูลค่ารวม ๆ กว่า 6.5 หมื่นล้านเหรียญ แต่ใหญ่โตขนาดไหนก็ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างโลว์ เทค เมื่อเทียบกับงานบริการด้านอื่น

ดังนั้น ปัญหาที่มีมาช้านานก็ยังคงสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการที่รถขยะมาไม่ตรงเวลาทำให้มีขยะกองสูงท่วมถนน ไปจนถึงการเล่นตัวของบริษัทจัดเก็บขยะที่เกี่ยงงอนไม่ยอมเก็บขยะชิ้นใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าพร้อมจะจ่ายเพิ่ม

อีกปัญหาที่กวนใจลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ คือการไม่รู้ว่าขยะรีไซเคิลที่ตัวเองบรรจงคัดแยกนั้น สุดท้ายแล้วมีการนำไปไว้ที่ไหน เพราะไม่มีระบบตรวจสอบใด ๆ

สิ่งที่ RTS นำเสนอ คือนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ รวมถึงให้บริการรีไซเคิลทุกประเภท โดยเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรรุ่นใหม่ที่เน้นการทำธุรกิจแบบยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีที่ว่า ช่วยตรวจสอบเส้นทางและคำนวณระยะทางของรถเก็บขยะเพื่อให้คนขับมาถึงสถานที่จัดเก็บตรงเวลา อีกทั้งลูกค้ายังเลือกช่วงเวลาในการรับบริการ ทั้งแบบรายวัน หรือเรียกใช้เฉพาะกิจเป็นครั้งคราว และเลือกใช้บริการรีไซเคิลได้แบบครบวงจร คลอบคลุมขยะทุกขนาดและทุกประเภท ตั้งแต่ของสด เศษอาหาร ของแห้ง พลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

โดย RTS จะจัดส่งรายงานอัพเดตลูกค้าถึงปริมาณขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการรีไซเคิลต่าง ๆ เช่น ของสดนำไปส่งที่ฟาร์มเพื่อทำเป็นปุ๋ย หากเป็นพวกพลาสติกก็นำไปส่งโรงงานเพื่อรีไซเคิล ช่วยให้องค์กรเหล่านี้รู้ว่าความพยายามในการช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของตัวเอง

หากเป็นเมื่อก่อน บริการกำจัดขยะแบบนี้ อาจฟังดูเป็นเรื่องน่าขันไร้สาระ แต่สำหรับองค์กรสมัยใหม่หลายแห่งในปัจจุบัน สำคัญทั้งต่อภาพลักษณ์และการดำเนินธุรกิจในระยะยาว จึงไม่น่าแปลกใจที่ RTS เปิดตัวมาแค่ 2 ปี มีลูกค้ารายใหญ่ อย่าง WeWork, WholeFoods หรือ SoulCycle มาเซ็นสัญญารายปีกันแล้ว

และสำหรับนักลงทุน โมเดลธุรกิจของ RTS น่าเย้ายวนไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างถูกที่ถูกเวลาแล้ว ยังเป็นบริษัทที่ไม่มีรถขนขยะเป็นของตัวเองเลยสักคัน ทำให้ลดภาระต้นทุนด้านการบริหารจัดการไปเยอะมาก

สิ่งที่บริษัททำคือ เป็นพันธมิตรกับบริษัทรถขนขยะขนาดกลางที่กระจายอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ โดย RTS หาลูกค้ามาเพิ่มให้ตามเส้นทางที่รถต้องวิ่งผ่านอยู่แล้วทุกวัน ทำให้บริษัทเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้น แถมยังได้แท็บเลตติดรถไว้ใช้ตรวจสอบและคำนวณเส้นทางฟรี

สิ่งที่ RTS ได้กลับมาคือ การมีเครือข่ายรถขนขยะที่ครอบคลุมและเรียกใช้ได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องลงทุนซื้อรถหรือจ้างคนขับด้วยตัวเอง

บริษัทให้บริการในเมืองใหญ่ ๆ อย่างนิวยอร์ก วอชิงตัน ดี.ซี. และซานฟรานซิสโก โดยมีแผนขยายกิจการจากเงินทุนที่เพิ่งระดมมาได้เกือบ 12 ล้านเหรียญจาก Volition Capital

ยังไม่พอค่ะ บริษัทยังเล็งลู่ทางทำกินเพิ่มจากขยะ โดยเฉพาะขยะที่ขายยกลอต เช่น พลาสติก และกระดาษแข็ง ที่มีแหล่งรับซื้อเป็นพิเศษทั้งในอเมริกา และเอเชีย ตลาดขยะประเภทนี้ไม่กระจอกนะคะ ประเมินกันว่ามีมูลค่ารวมสูงถึง 9 หมื่นล้านเหรียญทีเดียว

ถือเป็นสตาร์ตอัพที่ทำให้ขยะทุกชิ้นมีค่าขึ้นมาทันตาเห็น นอกจากจะหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่มีอะไรเหลือทิ้งโดยไม่จำเป็น หากมีบริการแบบนี้เยอะ ๆ คงช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้โลกเราได้มากทีเดียว