ฉายภาพไทยแลนด์ 4.0 “บิ๊กตู่” แก้วาทกรรม-พลิกโฉมประเทศ

“Digital Thailand Big Bang 2017” เป็นโครงการแรก ๆ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” ประกาศผลักดันหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2559 โดยมี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “ดิจิทัลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย” เพื่อฉายภาพการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้นโยบายของรัฐบาล

พลิกโฉมประเทศในทุกมิติ

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ถึงเวลาที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลก เพราะดิจิทัลมีบทบาทกับคนทุกเพศทุกวัย รัฐบาลภาคภูมิใจที่ได้จัดให้มีการพัฒนาดิจิทัล โดยพยายามเร่งสปีดให้เร็วขึ้น แต่ก็ฝากเรื่อง “สปีดออฟทรัสต์” ความไว้วางใจของคน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงให้มากขึ้นและใช้ประโยชน์ดิจิทัลให้มากขึ้น เป็นตัวเร่งการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งคือการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ครั้งที่ 4 ของโลก คนเป็นปัจจัยสำคัญบวกกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การก้าวเป็นผู้นำในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

3 สิ่งที่ต้องทำวันนี้ที่จะพลิกประเทศไทยในทุกมิติ คือ 1. ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสของประชาชนทั่วประเทศ 2. สร้างนวัตกรรมดิจิทัล ปรับฐานเศรษฐกิจของประเทศ และ 3. เชื่อมโยงประเทศไทยสู่โลกปี”61 เน็ตประชารัฐถึงทุกหมู่บ้าน

“ลดความเหลื่อมล้ำ” คือการให้คนไทยเข้าถึงโอกาสไปด้วยกัน ด้วยโครงการ “เน็ตประชารัฐ” วางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงไปถึงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศในปี 2561 ให้หมู่บ้าน 74,965 แห่ง เชื่อมต่อกับโรงเรียน โรงพยาบาล เทศบาลเป็นการลงทุนได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยให้ไปรษณีย์ไทยและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลฯ พัฒนาระบบขายสินค้าบนออนไลน์ ร้านค้าประชารัฐ โชห่วยในชุมชน ให้มีระบบ POS (Point-of-Sale) หมู่บ้านละ 1 แห่ง เพื่อให้นำสินค้าเข้ามาขายบนออนไลน์ เป้าหมายในปี 2561 จะมีร้านค้าลักษณะนี้ 1 หมื่นแห่ง มีสินค้า 5 หมื่นรายการ สร้างรายได้ให้แต่ละชุมชนได้ราว 3 แสนบาทต่อปี

แก้วาทกรรมเหลื่อมล้ำ

ในฐานะที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มุ่งให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลการเกษตร ด้วยเทคโนโลยี ใช้แผนที่ข้อมูลด้านการเกษตรที่มีการบูรณาการข้อมูลพื้นฐาน เพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพ ตลอดจนการขายผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลมีโครงการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตั้งเป้า 3 หมื่นรายปีนี้ และ 2 แสนรายปี 2564 และนำเน็ตประชารัฐมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลและการสาธารณสุข

“ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม เราต้องแก้วาทกรรมนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาด การเอื้อประโยชน์ พ่อค้าคนกลาง นายทุน การนำดิจิทัลเข้ามาทำให้ประชาชนมีทางเลือก ให้ประชาชนเข้มแข็ง ฐานรากการเกษตรต้องเข้มแข็ง ต้องพัฒนาตัวเองไปสู่การปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยีตามโลก ซึ่งคนต้องมีความรู้ มีทักษะที่จะใช้ประโยชน์ได้ รัฐบาล มี KPI มีการประเมินตลอดเวลาทุกโครงการเพื่อขยายผลให้คนไทยกว่า 17 ล้านคน และระดับประเทศ เพื่อขจัดความยากจนให้หมดจากประเทศไทยได้”

ดิจิทัลพาร์ค-IOT ปรับฐาน

“การสร้างนวัตกรรมดิจิทัล” ปรับฐานเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยโครงการ EEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และมีโครงการดิจิทัลพาร์ค บนพื้นที่ 600 ไร่ ที่ศรีราชา เป็นกลไกขับเคลื่อน ที่จะดึงดูดการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ ที่คาดว่าจะมีนักลงทุนมากกว่า 100 ราย เม็ดเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ผ่านกลไกสนับสนุนการลงทุนของ BOI พร้อมกับเปิดโอกาสในการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศผ่านการทำงานร่วมกับบริษัทข้ามชาติและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทั้งจะมีการตั้งสถาบัน IOTอินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ ให้เป็นศูนย์พัฒนาและประยุกต์ใช้ IOT และเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ สร้างความร่วมมือกับเอกชนกว่า 300 ราย หน่วยงานวิจัยทั่วโลก ที่คาดว่าจะมีการจัดคู่ผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างน้อย 1 พันรายในปี 2564

รวมถึงเร่งพัฒนานวัตกรรมสำหรับสมาร์ทซิตี้ ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ ระบบและกำลังคน สำหรับสมาร์ทซิตี้ใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น

เสริมแกร่งคนหนุนเชื่อมสู่โลก

ขณะที่การเชื่อมโยงไทยกับโลกยังทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งเพื่อให้ต่างชาติมีข้อมูลที่ถูกต้องในการยกระดับการประเมินศักยภาพของไทย นอกเหนือจากการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ทั้งเคเบิลใต้น้ำไปสู่ฮ่องกง กับอาเซียน และกับโครงการ One-Belt-One-Road ของจีน รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงาน ที่อย่างน้อยประเทศไทยต้องลดเวลาดำเนินการในการประกอบธุรกิจ การติดต่อภาครัฐให้ได้เท่ากับที่สิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านทำได้

ไมนด์เซต : ความท้าทายสำคัญ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ดิจิทัลเป็นซูเปอร์เทคโนโลยีที่แฝงในทุกเทคโนโลยีทุกมิติ ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดนี้จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างก้าวกระโดด

นอกจากบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน การสร้างระบบที่มีความเสถียรมีซีเคียวริตี้แล้ว ยังต้องสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเอง เนื่องจากที่ผ่านมายังจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โจทย์จึงจะทำอย่างไรที่จะประยุกต์ต่อยอดเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี

Digital Thailand Big Bang จุดเริ่มไทยรับโลกเปลี่ยน

“Digital Thailand Big Bang 2017” กระทรวงดีอี จัดขึ้น (21-24 ก.ย.) ในธีม “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นไทยแลนด์ : โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน”

โดย “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีดีอี กล่าวว่า งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัล ช่วยตอบคำถามว่า ดิจิทัลจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มี 4 โซน ได้แก่ Digital Ecosystem, Digital Community and Smart City, Digital Park และ Digital Playground

ไฮไลต์มีทั้งโซน Digital Playground ที่นำ VR Sphere ให้สัมผัสประสบการณ์โลกเสมือนจริง (Virtual Reality) พร้อมบูทรวมนักพัฒนาคอนเทนต์ VR ให้ได้ทดลองเล่น และมีเทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติ ที่ Maker แสดงกระบวนการครีเอตผลิตภัณฑ์ การจัดแข่งขันกีฬา e-Sport บังคับโดรนผ่านเครื่องกีดขวาง

ฟากแบรนด์นวัตกรรม “ไมโครซอฟท์” นำเทคโนโลยี AR : Augmented Reality มาโชว์ “หัวเว่ย” จัดเต็มสมาร์ทซิตี้ และมีบูท OFO ที่ให้บริการไบก์แชริ่ง ที่เปิดให้ทดลองใช้แล้วในภูเก็ต และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ด้านธนาคารแทบทุกเจ้าพร้อมใจโชว์ฟีเจอร์อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง3 ค่ายมือถือ “AIS” โชว์นวัตกรรม NB-Iot ให้เห็นการนำไปพัฒนาต่อทั้งในส่วนสมาร์ทซิตี้, สมาร์ทฟาร์มมิ่ง และไม่พลาดที่จะเปิดประสบการณ์ AIS Next G ส่วน “DTAC” ชูสมาร์ทฟาร์มมิ่ง กับโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และเกษตรสำนึกรักบ้านเกิด ส่วน “True” โชว์แผนการพัฒนาทรู ดิจิทัล พาร์ค

แต่ที่พลาดไม่มาร่วมงานไม่ได้คือ “ทีโอที” จำลอง “เน็ตประชารัฐ” และบริการต่อยอดบนโครงข่าย อาทิ ระบบการแพทย์ทางไกล การศึกษาทางไกล ในงานยังมีวิทยากรชั้นนำจาก 19 ประเทศ 67 หัวข้อสัมมนา อาทิ “Jeff Hoffman” Serial Enterpreneur (Priceline.com, Ubid.com, Color Jar)