“สภาดิจิทัล”ผนึกค่ายมือถือคลอดซิม Learn from Home ปั้นแพลตฟอร์มรับวิกฤตโควิด-19

สภาดิจิทัลฯ ร่วมหาทางออกประเทศไทย ผุดแพ็กเกจโมบายอินเทอร์เน็ตรับ learn from home พร้อมโซลูชั่นนรับมือการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสภาดิจิทัลฯ ตระหนักถึงสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจต่างๆ จากเหตุดังกล่าว จึงร่วมหาทางออกกับสมาชิกและองค์กรต่างๆ เพื่อเร่งนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารที่ครอบคลุมระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรมาสนับสนุนคนไทยในภาวะวิกฤตนี้

โดยเฉพาะ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของดิจิทัล ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่าย ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)  บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พร้อมใจสนับสนุนมาตรการภาครัฐ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา สามารถออนไลน์ เรียนหนังสือจากที่บ้าน (Learn from Home) ได้อย่างสะดวกและไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย ด้วยซิมการ์ดพิเศษให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือความเร็ว 4 Mbps และไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ใช้ได้นาน 3 เดือน (นับตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดใช้บริการ) ในราคา 400 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป จนตลอดช่วงวิกฤต COVID-19

โดยแสดงบัตรประชาชนพร้อมด้วย บัตรนักเรียน นักศึกษา เพื่อติดต่อขอรับซิมได้ โดย “เอไอเอส” และ “ทรู” สามารถรับได้ ณ ศูนย์บริการของแต่ละเครือข่าย ได้แก่ AIS Shop, ร้านเทเลวิซและร้าน AIS Buddy ทุกสาขาทั่วประเทศ  เครือข่ายทรู สามารถติดต่อได้ที่ ร้านทรูช็อป และ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ ส่วน “ดีแทค” ประสานงานได้ที่คอบเซ็นเตอร์ 1678 รวมถึงหากสถาบันการศึกษาใดสนใจที่จะจัดซิมหรือแพ็กเกจให้บุคลากรหรือนักเรียน นักศึกษา ก็สามารถติดต่อได้ที่คอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการแต่ละราย

นอกจากนี้ สภาดิจิทัลฯ ยังได้ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาโซลูชันและแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์ต่อการควบคุมโรค  ได้แก่ โซลูชันการติดตามการติดเชื้อย้อนหลังเพื่อการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค ประกอบด้วย แอปพลิเคชัน “Self D-care Heatmap” เป็นแอปพลิเคชันสำหรับติดตามตำแหน่งการเดินทางของผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ในช่วงระยะเวลา 14 วันย้อนหลัง ซึ่งสามารถดูไทม์ไลน์ของตัวเองย้อนหลังได้ และแพลตฟอร์ม “uSAFE” แพลตฟอร์มคำนวณความเสี่ยงว่ามีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ รวมไปถึง แอปพลิเคชัน “QR Checkin” แอปพลิเคชันสำหรับติดตามประวัติการเดินทางของผู้ป่วย COVID-19 ว่าไปสถานที่ใดบ้าง โดยใช้การสแกน QR Code เพื่อเก็บข้อมูล

ทั้งยังมีโซลูชันเพื่อการจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ โซลูชัน “Ordering & Distribution of Medical Supply” โซลูชันเพื่อจัดการการจัดซื้อและแจกจ่ายที่ครบวงจร ตั้งแต่การลงทะเบียน การจัดซื้อ การขนส่ง การเก็บข้อมูล แสดงผลรายงานผลแบบ real-time dashboard และ “Central Donation Platform” แพลตฟอร์มระหว่างผู้บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และสถานพยาบาล เพื่อกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ประชาชนบริจาคไปยังสถานพยาบาลต่างๆ โดยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ รวมไปถึงโซลูชันด้านสุขภาพของผู้สูงวัย ได้แก่ แอปพลิเคชัน “แทนคุณ” แอปพลิเคชันที่เป็นศูนย์รวมบริการผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้าน ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้สูงอายุ

ด้านข้อมูลข่าวสาร  ได้รวบรวมเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สำหรับทุกช่วงวัย ได้แก่ เว็บไซต์ covid-19.dct.or.th, เฟสบุ๊ค: Digital Council of Thailand – DCT และรายการในช่อง TNN รวมถึงพัฒนาเว็บไชต์ www.dct.co.th ให้เป็นศูนย์รวมแอปพลิเคชัน สำหรับการประชุมและเรียนออนไลน์ ได้แก่ Zoom, Google Hangouts, Skype, Line, FaceTime, Facebook Messenger, Microsoft Team และ True VWORLD ตลอดจนรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์เกี่ยวกับ COVID-19

ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ ยังจะผลักดันเรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฎหมาย โดยประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป และแนวทางการดำเนินการของสภาฯ รวมถึงยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลขอให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายอุปสรรคต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เช่น การกำหนดให้ต้องมีผู้ร่วมประชุม 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่ประชุมเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็นในปัจจุบันอีกด้วย