ประเทศไทยยังมีโอกาส DHL ยืนหยัดทำตาม ‘สัญญา’

file. Photo by Sean Gallup/Getty Images
สัมภาษณ์พิเศษ

 

ในยามนี้แทบจะทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และประเมินว่าปีนี้เป็นปีที่สาหัส ! แต่ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น “เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย” กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่กลับมองต่างออกไป “ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมเปิดมุมมอง

ปีแห่งความไม่แน่นอน

หลายธุรกิจประสานเสียง ว่า ปีนี้เป็นปีที่สาหัส แต่ “เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย” ให้คำนิยามของธุรกิจในปีนี้ ว่า คือ “ความไม่แน่นอน” เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าไวรัสโควิด-19 จะนำพาสถานการณ์ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยไปอย่างไร แต่ถ้าเทียบกับประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาแล้ว เชื่อว่าประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก

เหตุเพราะก่อนที่จะกลับมาประเทศไทย ก้าวมารับตำแหน่งนี้ “เฮอร์เบิต” ต้องผ่านธุรกิจในยุค “ต้มยำกุ้ง” ทั้งในประเทศไทยและที่ลามไปในสิงคโปร์ รวมถึงอีกหลายวิกฤตในภูมิภาคนี้ และที่หนักหน่วงล่าสุดกับการประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อกระทบกับความปลอดภัยในระบบขนส่งทั้งหมด รวมไปถึงเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง ณ ขณะนั้นเขาต้องดูแลทั้งพนักงานและระบบขนส่งทั้งหมดในฐานะกรรมการผู้จัดการ ประจำฮ่องกง และมาเก๊า

“ประท้วงที่ฮ่องกง เราไม่รู้ได้เลยว่าถนนเส้นไหนจะปิด จะมีใครเผาใครปิดล้อมตรงไหน พนักงานทุกคนจะเดินทางกลับบ้านหรือขนส่งให้ปลอดภัยอย่างไร พอเริ่มยืดเยื้อไวรัสโควิดก็มาต่อ”

เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย

ฉะนั้น ตั้งแต่ย้ายมาประจำที่ไทย

“ผมเครียดน้อยลง และมองเห็นโอกาสมากมายในประเทศไทย”

แม้ว่าไวรัสโควิด-19 จะทำให้เกิดความไม่แน่นอน เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ประเทศไทยหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ต่างกับวิกฤตในครั้งก่อน ๆ ที่กระทบเฉพาะพื้นที่

“แต่เบสิกของการบริหารธุรกิจในช่วงวิกฤต คือ อย่าไปห่วงในสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ คุณต้องบริหารในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ เราจะไปช่วยรักษาคนไม่ได้เพราะเราไม่ใช่หมอ จะไปลดจำนวนผู้ป่วยแต่ละประเทศก็เป็นเรื่องที่เราทำไม่ได้ แต่เมื่อเราเป็นคนทำขนส่งก็ต้องให้ชัวร์ ว่า พนักงานของเราปลอดภัยที่สุด ของของลูกค้าถูกส่งไปได้อย่างปลอดภัยที่สุด ไปได้ตามเวลาที่เราให้สัญญากับลูกค้าเอาไว้ และให้คนของเราบริการให้ลูกค้าอย่างดีที่สุด นี่คือสิ่งที่เราควบคุมได้และจะต้องทำให้ดีที่สุด”

สิ่งใดที่ไม่สามารถควบคุมได้ก็ต้องปล่อยให้เกิด

“ถ้าเราทำงานบริหารแล้วนั่งกังวลแต่เรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำงานกันพอดี”

คุณภาพตามสัญญา

“ที่ผ่านมาซัพพลายเชนโลกผลักดันด้วยเอเชีย” เมื่อตอนนี้สายการผลิตและซัพพลายเชนในประเทศจีนเริ่มกลับมาเดินหน้า หลังจากพิษไวรัสทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก สถานการณ์หลาย ๆ ส่วนก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

“48 ปีที่ดีเอชแอลฯเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ตลาดไทยเติบโตตลอด โอกาสในการส่งออกแบบ B2B (ธุรกิจสู่ธุรกิจ) ยังไปได้อีก ขณะที่ B2C (ธุรกิจสู่ผู้บริโภค) ยังมีน้อยแต่ก็มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซในไทยที่เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ก็ยังเป็นเฉพาะขายลูกค้าในประเทศ ที่ขายออนไลน์เพื่อส่งออกยังเติบโตได้อีกเยอะ สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก เป็นโอกาสของ SMEs ไทย”

โดยหน้าที่หลักของ “ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส” คือการส่งสินค้า/พัสดุให้ลูกค้าในรูปแบบของการค้าข้ามแดน ที่ให้บริการอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยลูกค้าไม่ต้องเดินเรื่องทางศุลากรเอง ซึ่งลูกค้าก็มีทั้งโรงงานผู้ผลิตสินค้าไฮเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซที่เน้น “คุณภาพบริการและส่งเร็ว”

“ในตลาดนี้มีคู่แข่ง 3 รายใหญ่ และดีเอชแอลฯมักถูกเปรียบเทียบเรื่องราคาค่าบริการมาตลอด เราไม่ใช่คนที่ถูกที่สุดตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่เน้นความคุ้มค่าที่สุด ลูกค้าของดีเอชแอลฯ คือกลุ่มที่รู้ว่าต้องการอะไร อย่างผู้ค้าอีคอมเมิร์ซที่เป็นลูกค้าเราก็บอกว่า เลือกเราเพราะเขาจะนอนหลับได้สนิท วางใจได้ว่าของจะถึงมือลูกค้าเขาอย่างดีและรวดเร็ว ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับการคอยตอบคำถามหรือฟังเสียงบ่นจากลูกค้า ขณะที่ผู้ประกอบการยิ่งส่งออกได้เร็ว ก็สามารถประหยัดต้นทุนได้”

ฉะนั้น จุดยืนที่ชัดเจนของดีเอชแอลฯ คือ ทำให้ได้ตามสัญญาที่ให้ไว้ ไม่ใช่การแข่งราคา

ไม่หยุดลงทุนในไทย

ขณะเดียวกัน ก็มองหาโอกาสในการเติบโตอยู่ตลอด โดยนอกเหนือจากการเพิ่มจุดรับส่งพัสดุกว่า 238 แห่งในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ศูนย์กระจายพัสดุ 14 แห่งเดิมยังมีแผนจะขยายการลงทุนไปในพื้นที่โครงการ EEC (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการผลิตและโรงงานที่ต้องการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ รวมถึงขยายศูนย์กระจายสินค้ารอบ ๆ สนามบินต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับจำนวนการส่งออก

รวมถึงจับมือร่วมกับหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ส่งออก ในการจัดเทรนนิ่งให้ความรู้กับผู้ประกอบการในการวางขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างอีเบย์และอเมซอน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการส่งออกมากขึ้น

“หลายอุตสาหกรรมในไทยยังสู้กับประเทศอื่นไหว อย่างการเกษตร เพียงแต่ต้องดิจิไทซ์ มีการนำไอทีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ไทยยังมีโอกาสขยับขยายเพียงแต่ต้องให้บริการที่ดีและรับฟังเสียงของลูกค้า”

ฉะนั้น ดีเอชแอลฯยังไม่หยุดลงทุนในประเทศไทยแน่นอน ทุกวันนี้ 238 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะยิ่งคนไม่เดินทาง “ของ” ก็ต้องไป



ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน