เทคโนโลยีเตือนพื้นที่เสี่ยง แบบอัพเดตเรียลไทม์

คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

 

หลาย ๆ ประเทศได้เริ่มนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้แก้ปัญหาในเรื่องโควิด-19 มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างของไต้หวันเองก็น่าสนใจ และเขาเริ่มนำระบบที่ได้ทำขึ้นมานั้นออกมาเผยแพร่ให้ประเทศอื่น ๆ นำไปปรับใช้ได้

จะเห็นว่ามีหลายประเทศที่ได้เริ่มมีการแชร์องค์ความรู้ว่าเขาทำอะไรไปแล้วบ้างเผยแพร่ให้กับสังคมโลกได้นำไปปรับใช้กับประเทศของตน ซึ่งบางอย่างน่าสนใจมากเลยทีเดียว บางอย่างที่แชร์ ๆ กันก็เริ่มมีการเอาไปใช้กันจริง ๆ ผมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ดี ถือว่าเป็นการรับข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดียแล้วนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

ในบ้านเราเองตอนนี้เริ่มมีคนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กันเยอะมากขึ้น จะเห็นว่ามีบางเว็บไซต์เปิดขึ้นมาเพื่อรายงานข้อมูลตำแหน่งข้อมูลของคนที่ติดเชื้อโควิด-19 บางเว็บไซต์จะรายงานการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนที่ติดเชื้อจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง

ฉะนั้น ข้อมูลจะมีความหลากหลายมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตคือ เว็บไซต์จะรับข้อมูลมาจากการแถลงข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขอีกที และเป็นการเก็บข้อมูลกันเองไม่ได้มีแหล่งข้อมูลกลางที่เป็นแบบทางการ ฉะนั้น กลุ่มที่ผมได้เล่าไปแล้วคือ ทีม TCDG ที่เป็นการรวมตัวบนโลกดิจิทัลนั้นจึงได้ทำแผนที่หนึ่งขึ้นมา

ปัญหาของการทำแผนที่ที่พบก็คือ การระบุตำแหน่งของผู้ป่วยหรือปักหมุดลงไปนั้นจะมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ตรงนั้นได้ เช่น เมื่อปักลงไปที่สนามมวย แต่ ณ ปัจจุบันสนามมวยอาจมีการทำความสะอาดได้สะอาดมากกว่าปกติไปแล้วก็ได้

จึงมีการพูดคุยกันในกลุ่มว่าการปักลงไปกับข้อมูลบางอย่างนั้น ไม่ควรปักลงไปในจุดใดจุดหนึ่ง อาจให้เป็นการระบุพื้นที่โดยรวมว่าพื้นที่นี้เคยเกิดอะไรมาแล้ว เมื่อไหร่และมีการนับถอยหลังให้ดูว่าเหตุการณ์นั้นผ่านมานานเท่าใดจึงจะดูเหมาะสมกว่า

จุดที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ข้อมูลที่จะนำมาแสดงนั้นหากเป็นพื้นที่ที่มีการพบผู้ป่วยซ้ำแล้วซ้ำอีก บ่อยครั้ง จุดจุดนี้น่าจะเป็นพื้นที่ที่อันตรายมากกว่า ควรมีการแจ้งเตือนให้ทราบ แต่หากพื้นที่อย่างสนามมวยที่เกิดขึ้นเพียงหนึ่งครั้งและผ่านไปแล้ว

อาจจะเป็นพื้นที่ที่น่ากังวลน้อยกว่าข้อมูลบางอย่างมันมีเรื่องของความละเอียดอ่อน การปักลงไปในพื้นที่บางทีเหตุการณ์มันผ่านไปหลายวันแล้ว แต่หมุดมันยังปักแช่อยู่อย่างนั้น คำถามคือมันจะเกิดอะไรขึ้นกับร้านค้าตรงนั้น ธุรกิจในละแวกนั้น หรือคนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นคงจิตตกกันน่าดูทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้นผ่านไปแล้ว มีคนไปทำความสะอาดหรือจัดการเรียบร้อยไปแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือข้อมูลที่เรียลไทม์มากกว่า ความสดของข้อมูลที่เกิดขึ้นมันควรจะต้องเปลี่ยนไปตลอดเวลา เพื่อทำให้คนรับรู้ข่าวสารว่ามีอะไรที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่รับข้อมูลที่แชร์ ๆ กันต่อมาบนโซเชียลมีเดียทั้งที่จริงมันคือข่าวในอดีตที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้ว นี่คือความน่ากลัว ซึ่งพื้นที่เหล่านี้น่าจะได้รับการจัดการเรียบร้อยแล้ว แทนที่จะสนใจข้อมูลในอดีตเราควรสนใจข้อมูลปัจจุบันมากกว่าว่าพื้นที่ไหนมีกลุ่มเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงในการติดมากที่สุด

แต่ที่ผ่านมาทุกคนที่นำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ออกไปนั้นมักเป็นการนำเอาข้อมูลเท่าที่มีมาวิเคราะห์ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นเกิดจากการเก็บรวบรวมจากการแถลงข่าวของภาครัฐ แต่เนื่องจากข้อมูลบางอย่างเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในระดับหนึ่ง รัฐเองก็อยากจะเปิดเผยข้อมูลออกมาตรงกลางเพื่อให้ทุกกลุ่มเอาไปใช้ได้อย่างเป็นระบบ ดังนั้น จึงได้มีการพูดคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดสามารถวิ่งผ่านเข้ามาแล้วทำให้ทุกคนได้เห็นในข้อมูลชุดเดียวกัน

ผมและน้อง ๆ ทีมงานจึงกระโดดลงมาช่วยกันทำจนเป็นแพลตฟอร์ม www.th-stat.com ซึ่งกลายเป็นช่องทางหลักในการนำเสนอข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูลผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยง ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวง https://covid19.ddc.moph.go.th


นี่คือผลงานความร่วมมือของภาคประชาชนกับภาครัฐ ประเทศเราจะเดินไปข้างหน้าได้ หากทุกคนช่วยและร่วมมือกัน การ “ลงมือทำ” และ “ช่วยกัน” เราจะทำให้เราฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ !