พลิกโลกสู่ยุคใหม่ พลังการสื่อสารท้าทาย “รัฐ”

โควิด-19 กำลังทำให้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ippd : สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา จึงเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองภายใต้หัวข้อ “New World Paradigm : ไวรัสเปลี่ยนโลก” ร่วมกับโครงการวิจัยคนเมือง 4.0, ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด

“ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์” หัวหน้า Foresight and Futures Lab สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และนักวิจัยคนเมือง 4.0 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ขณะนี้ผู้ที่อยู่ในเมืองเหมือนอยู่ในภาวะจำยอม เพราะจากเดิมที่เมืองเป็นที่ดึงดูดคนจำนวนมหาศาลเข้ามา เนื่องจากประกอบด้วย แหล่งงาน แหล่งเรียนรู้ แหล่งรายได้ แหล่งโอกาส แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเดินทาง แหล่งซื้อของ ฯลฯ

แต่พอเกิดไวรัสโควิด-19 ความหนาแน่นในเมืองกลายเป็นความเสี่ยง

“เราพยายามจะบอกให้ทำงานจากบ้าน ทำงานออนไลน์มากขึ้น แต่แน่นอนทุกคนไม่ได้เวิร์กฟอร์มโฮมได้ แม่ค้าหาบเร่ไม่สามารถยกขึ้นออนไลน์ได้ พนักงานทำความสะอาดก็เวิร์กฟอร์มโฮมไม่ได้ และเมื่อแหล่งงานแหล่งเรียนรู้ถูกปิด ก็ไม่มีเหตุผลว่าจะต้องไปใช้ชีวิตในเมือง”

โควิด-19 จึงเป็นสัญญาณ บ่งชี้ว่า เมืองไม่ได้ให้ความสุขกับคนหรือเปล่า เพราะถ้ามีความสุขก็จะไม่เห็นภาพคนจำนวนมากเดินทางกลับบ้าน

อีกคำถามที่น่าสนใจ คือ “อนาคตพึงประสงค์เป็นอย่างไร” หมายความว่า รัฐจะต้องบริการตามความต้องการของคนได้ แต่ก่อนจะทำได้ก็ต้องมีข้อมูล

“ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มนี้คือใคร มีชีวิตอย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออะไร การปิดห้าง ปิดตลาด ใครจะเดือดร้อน อะไรจะเกิดขึ้นกับคนเมือง คำถามเหล่านี้จะตอบได้ถ้ามีฐานข้อมูลที่ดีพอ”

ในยามคับขัน รัฐจึงต้องบริการความต้องการของคน ซึ่งจะทำได้คือ ต้องรู้จักเมืองให้ดีพอ คำถามคือ รู้จักพลเมืองดีพอหรือยัง

รัฐต้องมีการเก็บฐานข้อมูลที่ละเอียดและมีประสิทธิภาพ จะเป็นการยืดหยุ่นต่อการจัดการภัยพิบัติได้ต่อไป

อีกสิ่งที่เห็นจากวิกฤตครั้งนี้ คือ รูปแบบความร่วมมือที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือการช่วยเหลือกันในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกสังคมที่มีคนอยู่อย่างหนาแน่น

โดย “กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโลกไว้ด้วย เป็นอนาคตของพลังการสื่อสาร

ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาเร่งปฏิกิริยาให้เมืองใหญ่ ๆ เปลี่ยนตัวเองได้มากขึ้น ณ วันนี้ได้เห็นอาชีพใหม่ของคนที่อยู่ในเมือง คือ digital worker ทำงานที่ไหนก็ได้

“โควิด-19 ไม่ได้เป็นแค่ภัยคุกคามทางชีวภาพอีกต่อไป แต่ได้เข้าไปเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง”

นอกจากนี้ การใช้โซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง แตกต่างจากในยุคที่เคยเกิดโรคระบาดก่อนนี้ ทำให้เห็นว่า “พลังของการสื่อสาร” ไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐอีกต่อไป แต่กลายเป็นความท้าทายของภาครัฐว่าจะต้องสื่อสารอย่างไร

“เมื่อเกิดการใช้งานโซเชียลมีเดียมากขึ้น คนรู้สึกว่าตัวเองรอไม่ได้ ทุกคนเลยคิดว่าต้องปกป้องตัวเอง ก็เลยเกิดเฟกนิวส์ขึ้น เช่น การซื้อฟ้าทะลายโจร หรือข่าวที่บอกว่าไฮเตอร์กำจัดเชื้อไวรัสได้ รัฐจึงต้องมีการสื่อสารที่เร็ว คม และชัดเจน เพราะรัฐควบคุมสื่อไม่ได้”

ฉะนั้น ในสถานการณ์นี้สิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ การ “ฟังประชาชน” เพราะการสื่อสารที่ปราศจากการฟังที่ดีจะไม่เกิดประสิทธิภาพ

“ภาครัฐควรฟังประชาชนมากขึ้น แต่การฟังเสียงประชาชน 70 ล้านคน เป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงเหมือนกัน เทคโนโลยีกับสื่อโซเชียลมีเดียจะสามารถช่วยรัฐได้ แต่รัฐต้องเอาความตระหนัก ความกลัวออกจากความคิดเห็นเหล่านั้น แล้วรัฐจะตอบคำถามประชาชนได้มากขึ้น”