สมรภูมิ 5G กลางปีนี้ระอุ! EIC ชี้ค่ายมือถือพร้อมงัดกลยุทธ์ราคาดึงดูดผู้ใช้

5G
(FILES - Photo by Robyn Beck / AFP)

การประมูล 5G เพิ่งจะเสร็จสิ้นไปไม่นาน แต่หลายผู้ประกอบการได้เดินหน้าโหมโปรโมทการเปิดโครงข่ายและผลักดันการใช้งานอย่างเต็มที่

ล่าสุด “EIC” Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย “ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม” นักวิเคราะห์อาวุโส ได้ระบุว่า บริการ 5G เชิงพาณิชย์ที่จะเปิดใช้ในช่วงกลางปีนี้ จะทำให้เห็นการงัดกลยุทธ์ของแต่ละค่ายมือถือเพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน ถึงแม้ว่าวิกฤติ Covid-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง แต่ค่ายมือถือยังคงเดินหน้าขยายโครงข่ายโทรคมนาคม 4G/5G เพื่อรับมือการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการทำงานที่บ้านและการเรียนแบบออนไลน์ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

โดยการถือครองคลื่นของแต่ละค่ายในขณะนี้ พบว่า AIS และ TRUE มีความได้เปรียบจากปริมาณคลื่นทั้ง 3 ย่านความถี่ที่เหนือกว่า อีกทั้งยังใกล้เคียงกับโอเปอเรเตอร์ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่เพิ่งเปิดให้บริการ 5G จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้ข้อมูลได้หลากหลายทั้งผ่านสมาร์ทโฟน การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT การยกระดับระบบสาธารณูปโภค

แต่การลงทุนโครงข่ายก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน จากข้อมูลของ กสทช. EIC พบว่าในปี 2562 สถานีฐานของคลื่นความถี่ 2100MHz ซึ่งเป็นคลื่นย่านกลางมีจำนวนรวมกว่า 80,000 สถานีซึ่งสูงกว่าคลื่นความถี่ย่านต่ำอย่าง 900MHz ถึง 2 เท่าที่มีสถานีฐานรวมอยู่ราว 38,000 สถานี ในส่วนการติดตั้งสถานีฐานของคลื่นความถี่ย่านสูง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเกาหลีใต้ประเมินว่า จำนวนสถานีฐานเพื่อรองรับการใช้งาน 5G บนคลื่นความถี่ 28GHz ทั้งในรูปแบบของเสาโทรคมนาคม (macro cell) และจุดรับส่งสัญญาณ (small cell) จะมีมากกว่า 1 แสนจุดทั่วประเทศ

ขณะที่ผลการศึกษาของสมาคมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก (GSMA) พบว่า โอเปอเรเตอร์ที่ถือครองคลื่นความถี่ย่านกลางจำนวน 60MHz ต้องติดตั้งจำนวนสถานีฐานสูงกว่ารายที่มีคลื่นจำนวน 100MHz ราว 65% เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการใกล้เคียงกัน

ในช่วงเริ่มต้นของการเปิดใช้ 5G เชิงพาณิชย์ ประเมินว่าการแข่งขันด้านแพ็กเกจและราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยจะเป็นการนำเสนอบริการที่หลากหลาย ทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน fixed wireless boardband และสร้างความแตกต่างด้วยแพ็กเกจคอนเทนท์เพื่อการบันเทิงที่มีความละเอียดสูง ทั้ง streaming UHD  , cloud gaming , virtual reality/augmented reality content

แต่ค่าบริการ 5G ในระยะเริ่มต้นมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าบริการในระบบ 4G เมื่อพิจารณาราคาต่อกิกะไบต์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการเดิมในระบบ 4G เข้ามาในระบบ 5G มากขึ้น รวมถึงดึงดูดลูกค้าให้ย้ายค่าย

ค่าบริการ 5G ในเกาหลีใต้ที่เริ่มต้นราว 1,615 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าค่าบริการรายเดือนในระบบ 4G ปัจจุบันราว 5% ทำให้มีผู้ใช้มากกว่า 2 ล้านเลขหมายใน 7 เดือนหลังเปิดให้บริการ 5G หรือราว 3% ของจำนวนเลขหมายทั้งหมดส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหมายเลขต่อเดือน (ARPU) เพิ่มสูงขึ้นราว 2%YOY และคาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการในระบบ 5G จะแตะ 7 ล้านเลขหมาย หรือราว 10% ของจำนวนเลขหมายทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้”

นอกจากนี้ 5G ยังตอบโจทย์ความต้องการใช้ข้อมูลอย่างแท้จริงทั้งในส่วนของผู้ใช้บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ใช้บริการในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการนำเสนอการให้บริการที่สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาประเทศถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการผลักดันให้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล

ดังเช่นในเกาหลีใต้ KT Telecom ให้บริการเทคโนโลยี 5G กับบริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Hyundai Heavy Industries สำหรับระบบการผลิตอัตโนมัติแบบครบวงจร ได้แก่ AR สำหรับการทำงานในระยะไกล (remote working), การเชื่อมโยงหุ่นยนต์การผลิต (connected robot) รวมทั้งระบบกล้องวงจรปิดและระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อยกระดับโรงงานการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (smart factory) ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 40% ทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0 ของรัฐบาลเกาหลีใต้อีกด้วย