คุยกับผู้สร้างเว็บลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” 24 ชั่วโมง รับได้ 17 ล้านคน

สัมภาษณ์พิเศษ

นอกจากจะคลุกคลีในวงการเทคโนโลยีมาเป็นสิบปี ในฐานะ CTO ของหลายธนาคารใหญ่ อาทิ กสิกรไทย และประธาน KASIKORN Business-Technology Group “สมคิด จิรานันตรัตน์” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างเว็บ “ชิมช้อปใช้” และ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่รองรับการลงทะเบียนของประชาชนหลักสิบล้าน

“ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยถึงไอเดียที่กำลังพยายามผลักดัน “ดิจิทัลแพลตฟอร์มของประเทศไทย”

Q : “เราไม่ทิ้งกัน” จะต่อยอดอะไรบ้าง

เว็บเราไม่ทิ้งกันยังไม่หมดภารกิจ จะเปิดรับลงทะเบียนไปถึงเมื่อไรก็แล้วแต่กระทรวงการคลัง ทางกรุงไทยเป็นแค่ผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยี แต่ว่าเจ้าของข้อมูล แนวทางในการจัดการ นโยบายต่าง ๆ จะมาจากกระทรวงการคลังทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงการคลังก็สามารถนำข้อมูลไปต่อยอด ไปใช้ประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนต่อไปได้ อย่างการจะนำข้อมูลไปต่ออะไรไหมก็อยู่ที่ทางกระทรวง

Q : ผลักดันแพลตฟอร์มของประเทศ

ถ้ามีก็จะทำให้ผู้ผลิตรายเล็ก ๆ เกษตรกร สตาร์ตอัพรายเล็ก ๆ ที่อยากจะสร้างบริการใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มที่จะมีโอกาสเข้าถึงคน 40-50 ล้านคน เพราะการทำตลาดให้มีลูกค้าเป็นเรื่องยากที่สุด

ขณะที่คนในแพลตฟอร์มก็จะได้รับบริการที่หลากหลาย และหากรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลืออะไรก็จะมีข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ในทางเทคนิค ผมมีทีมที่ทำเรื่องนี้ ออกแบบเรื่องนี้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ทางเทคนิคคิดไปเยอะพอสมควร แต่จะทำให้เห็นผลได้ จะต้องได้รับความร่วมมือกับหลายฝ่าย และคงจะใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา แต่เชื่อว่าถ้าทำได้สำเร็จจะเกิดประโยชน์กับประเทศมาก

Q : หลายคนพยายามทำแต่ไม่สำเร็จ

คนที่จะทำแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ จะต้องมีประสบการณ์ จะต้องเรียนรู้จากแพลตฟอร์มขนาดที่ใหญ่พอสมควรขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่จู่ ๆ จะคิดจะสร้างแพลตฟอร์มแล้วรองรับขนาดใหญ่ได้เลย อย่างตอนที่เราสร้างชิมช้อปใช้ รับได้วันละ 1 ล้าน เราก็เรียนรู้มาได้เรื่อย ๆ จนถึงวันนี้ “เราไม่ทิ้งกัน” รองรับ 24 ชั่วโมง ได้ 17 ล้านคน ซึ่งก็มากกว่าเดิมเกือบ 20 เท่า

ผมก็เชื่อว่าคนที่จะทำได้จริง ๆ ต้องมีโอกาสได้ลอง ได้ทำ และเรียนรู้สิ่งที่ทำมาก่อนหน้านั้นถึงจะเกิดประโยชน์

Q : คนกังวลข้อมูลจะถูกใช้อย่างอื่น

ในการออกแบบระบบทุกครั้งได้คำนึงถึงความสำคัญของการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างมาก และข้อมูลต้องเป็นความลับ ต้องชัดเจนว่า ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บรักษาอย่างรัดกุม

เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ไม่ใช่เพื่อผู้มีอำนาจแต่ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม ที่จะต่อยอดให้เข้าใจว่ามีพฤติกรรมอะไรบ้าง ที่จะทำให้เกิดแนวโน้มอย่างไรในประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องมี เพราะประเทศต้องมีข้อมูลมากพอที่จะทำให้เห็นแนวโน้มของประเทศจะเป็นอย่างไร และรู้จักสภาพโดยทั่วไปของประชาชนว่ามีปัญหาตรงไหนอย่างไร

ส่วนการช่วยเหลือเป็นรายบุคคลก็จะใช้ข้อมูลที่ใช้ AI (ปัญญาประดิษฐ์) หรือใช้เครื่องมาเป็นคนดู ไม่ใช่ใช้ตัวบุคคลเข้าไปดูข้อมูล

Q : ใครควรจะเป็นเจ้าภาพ

ระบบนี้ต้องเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบได้ ใครจะเป็นคนดูแลก็เรื่องหนึ่ง แต่การทำระบบให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปรัชญาของการออกแบบระบบได้รับการชี้แจงอย่างครบถ้วนว่า ในแต่ละเรื่องมีปรัชญาในการออกแบบอย่างไรทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ผมคิดว่า ถ้าทุกคนมีความเข้าใจว่า ออกแบบมาแล้วจะได้ประโยชน์กันอย่างไร แล้วจะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเขาอย่างไร ผมเชื่อว่าน่าจะสร้างความไว้วางใจได้

ส่วนจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน เป็นเจ้าภาพ ก็ต้องคุยกันอีกระดับว่า ใครจะเกี่ยวข้องบ้าง แต่ตอนนี้ผมคิดว่า ทีมที่ทำเรื่องนี้ ออกแบบเรื่องนี้ คือ ทีมของกรุงไทย และผมเป็นผู้ช่วย เขาเป็น architect หลักของเรื่องนี้อยู่

Q : รัฐมีข้อมูลในมือมาก ยังต้องทำอีก

คิดว่าไม่เหมือนกัน เพราะข้อมูลในดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ตั้งใจจะผลักดัน เป็นข้อมูลที่ทำให้รับรู้ถึงกิจกรรม สิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ที่ทำให้รู้รูปแบบการใช้ชีวิต ความต้องการของพลเมือง ที่จะตอบโจทย์การพัฒนาเมือง พัฒนาประเทศ ต่อไปในอนาคต

Q : รัฐให้ความสำคัญ “ข้อมูล” น้อย

ผมคิดว่าภาครัฐตื่นตัวในเรื่องนี้พอสมควร แต่ต้องมีคนที่เข้าใจสถาปัตยกรรมหลักของระบบ และสร้างให้มีความสอดคล้องต่อเนื่อง และเชื่อมต่อกัน เชื่อมโยงกันได้ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า ภาครัฐยังขาดอยู่ การจะสร้างแพลตฟอร์มที่ทุกคนมาอยู่ แล้วมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ จะต้องมี architect หลักของแพลตฟอร์ม

Q : โมเดลต้นแบบความสำเร็จ

มีหลายประเทศ ประเทศที่พัฒนาแล้วมีแทบทั้งนั้น แต่ประเทศที่นำหน้าในเรื่องนี้ และทำเรื่องนี้มากเป็น 10 ปี คือ เอสโตเนียแต่ประเทศไทยจะทำให้เกิดได้เมื่อไร ผมคงตอบไม่ได้

Q : ถ้าไทยช้าจะเสียโอกาสอะไรบ้าง

ประเทศไทย ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศทั้งสิ้น ทำให้เราไม่ค่อยรู้จักคนไทย รู้ข้อมูลของคนไทยเลย มันมีความเสี่ยงมากในการที่จะสร้างประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ทำอย่างไรจะไม่ให้ประเทศ หรือคนไทย ถูกชักจูงด้วยแพลตฟอร์มอื่น ๆ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของประเทศ