AIS ลงทุน 5G ให้ 158 รพ.ทั่วประเทศ ดันเทคโนโลยีช่วยหมอกู้ภัยโควิด-19

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เอไอเอสในฐานะองค์กรธุรกิจไทยต้องการมีส่วนช่วยคนไทยและประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ จึงประกาศวิชั่นระยะสั้น “AIS 5G สู้ภัย COVID-19” โดยบอร์ดบริษัทได้อนุมัติงบประมาณเบื้องต้น 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินภารกิจเร่งด่วนในการนำศักยภาพของเทคโนโลยี 5G และการพัฒนาโซลูชั่นทางการแพทย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส

ปักธง 3 ภารกิจเร่งด่วน

โดยจะดำเนินการใน 3 ภารกิจ ได้แก่ 1.เร่งขยายโครงข่าย 5G ให้ 158 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่มีการรักษาและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ภายในเม.ย.นี้ ปัจจุบันติดตั้งไปแล้วใน 20 โรงพยาบาล และจะขยายอีก 130 แห่ง เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นแนวหน้าของการรับมือกับวิกฤตนี้ที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการตอบสนองที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของ 5G และสนับสนุนระบบสื่อสารทั้ง AIS Fibre, 4G, AIS Super WiFi และสมาร์ทดีไวซ์ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วย

2.ผลักดันนวัตกรรมการแพทย์ในช่วงการระบาดโควิด-19 โดยตั้งศูนย์เฉพาะกิจ AIS Robotic Lab ระดมนักวิจัยนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทั้งภายในบริษัทและหน่วยงานภายนอก ในการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G telemedicine และโซลูชั่นงานบริการทางแพทย์ โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อให้สอดรับกับความต้องการเฉพาะของแต่ละแห่ง

และภารกิจที่ 3.พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G telemedicine เวอร์ชั่นใหม่ robot for care จำนวน 21 ตัว โดยจะส่งมอบให้กับโรงพยาบาล 20 แห่ง ที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหมอ พยาบาล ตรวจคัดกรองคนไข้ด้วย thermoscan, ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างคนไข้และหมอผ่าน VDO call โดยสามารถบังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ผ่าน 5G แบ่งเบาภาระ ลดการแออัด และลดเสี่ยงติดเชื้อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

AIS Robotic Lab ระดมนักวิจัยด้านดิจิทัล พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G Telemedicine

เร่งขยาย 5G-เพิ่มคาพาซิตี้ระบบ

สำหรับการดูแลลูกค้าได้เริ่มมาตั้งแต่วิกฤตยังไม่รุนแรง ทั้งการให้ประกันภัยโควิดกับลูกค้า รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่เน้นทั้งดีลิเวอรี่ และการอำนวยความสะดวก มีการทำแพ็กเกจบริการรองรับ การทำงานและเรียน (work-learn from home) จากที่บ้าน เช่น มี “student sim” ราคา 400 บาท ใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่อั้น 3 เดือน สำหรับนักเรียนนักศึกษาโดยเฉพาะ เพื่อรองรับการเรียนออนไลน์ รวมถึงลงทุนขยายขีดความสามารถของโครงข่ายเพิ่มขึ้น 3 เท่า เนื่องจากพบว่าการใช้งานโมบายดาต้าเพิ่มขึ้น 15% ฟิกซ์บรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 25% และเพิ่มช่องทางติดต่อของลูกค้าผ่านทางออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวก

ส่วนการขยายโครงข่าย 5G จะยังเดินหน้าอย่างเต็มที่ ไม่เฉพาะตามโรงพยาบาล แต่ยังครอบคลุมตามพื้นที่สำคัญอื่น ๆ เนื่องจากโครงข่าย 5G ที่ติดตั้ง ได้ออกแบบมาให้พร้อมใช้งาน 4G บนคลื่น 2600 MHz ได้ด้วย และเป็นย่านคลื่นสมาร์ทโฟนกว่า 50% ในตลาดรองรับได้อยู่แล้ว

“การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในทางการแพทย์จะเห็นผลชัดเจน มีโซลูชั่นรองรับตามต้องการ ถือเป็นประโยชน์ของ 5G แท้ ๆ ส่วนในฝั่งประชาชนทั่วไปอาจไม่ได้เห็นมาก เพราะมือถือที่รองรับ 5G มีไม่กี่รุ่นและราคาแพง แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้ใช้ 5G บนโครงข่ายก็มี 4G จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่หยุดการขยาย 5G”

นายสมชัยย้ำว่า เงินลงทุนโครงข่ายปีนี้ยังเป็นไปตามแผนเดิม เนื่องจากผู้ผลิตอุปกรณ์ยังพร้อมส่งอุปกรณ์เข้าไทยได้ตามเวลา แต่อาจมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องการติดตั้งโครงข่ายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้เฉพาะในช่วงกลางวัน เป็นต้น

 

วิกฤตพลิกโอกาสสู่ดิจิทัล

ซีอีโอ “เอไอเอส” กล่าวด้วยว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรม และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด แต่สำหรับเอไอเอสยังมีหน้าที่ในการทำให้ลูกค้าใช้บริการได้เหมือนปกติมากที่สุด

“ทุกอุตสาหกรรมเจอเหมือนกัน คือ ไม่สามารถทำธุรกิจแบบปกติได้ ทำให้รายได้อาจไม่เป็นไปตามคาดหมาย ในส่วนของเอไอเอสสิ่งที่กระทบมาก คือ การเปิดเบอร์ใหม่จะน้อยลง แต่ในทางกลับกันก็มีลูกค้าปิดเบอร์น้อยลงด้วย เพราะตลาดบ้านเรา จะมีการเปิดเบอร์ใหม่ 4-5 ล้านเบอร์ทุกเดือน และปิดเบอร์ 4-5 ล้านเบอร์ทุกเดือนเช่นกัน เหลือส่วนต่างไม่กี่แสนเบอร์ ซึ่งเราไม่ได้ห่วงเรื่องที่สาขาเกือบครึ่งต้องปิด แต่ห่วงประชาชนว่าจะไม่มีแรงจับจ่ายมากกว่า ยิ่งสถานการณ์ลากยาว ยิ่งมีผลกระทบมาก”

พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G เวอร์ชั่นใหม่ ROC-ROBOT FOR CARE รับหน้าที่ผู้ช่วยหมอ ลดเสี่ยง ลดงาน หมอพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเยอะมาก มีการเปิดรับการใช้เทคโนโลยี “ดิจิทัล” เข้ามาในชีวิตมากขึ้น ทำให้ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” มาเร็วกว่าที่คาดกันไว้

“เอไอเอสได้พยายามผลักดันดิจิทัลมาตลอด แต่พฤติกรรมผู้บริโภคยังไม่ปรับ แต่โควิดเข้ามา ทำให้เปลี่ยนเร็วมาก ให้เกิดการลดต้นทุนได้มหาศาล จากการมูฟไปออนไลน์”