อีคอมเมิร์ซโตพุ่ง แนะธุรกิจเร่งจับโอกาส

File. Photographer: Nicky Loh/Bloomberg via Getty Images

ไม่ใช่จะมีแต่ด้านร้าย ๆ โควิด-19 ยังช่วยผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เติบโตชัดเจน

“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด กล่าวในเวที “Techsauce Virtual Conference 2020” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้ shop-ping online เติบโตมากขึ้น เห็นได้ชัดจากจำนวนการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มเปรียบเทียบราคา “ไพรซ์ซ่า”ทั้งอัตราการซื้อก็เพิ่มขึ้นด้วย

โดยเมื่อเทียบกับช่วง “ก่อน” ระบาด กับปัจจุบัน สินค้ากลุ่มที่มีอัตราการซื้อเติบโต อันดับแรก คือ สินค้าอุปโภคบริโภค โตถึง 139 % อันดับ 2 คือ กลุ่มดูหนังฟังเพลง เอ็นเตอร์เทนเมนต์ส่วนที่มีอัตราการซื้อลดลง ได้แก่ ประเภทความงาม และการบริการต่าง ๆ

ด้าน “ชลลักษณ์ มหาสุวีระชัย” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบ็ตเตอร์บี มาร์เก็ตเพลส จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายของตกแต่งบ้าน “NocNoc” เปิดเผยว่า NocNoc กำลังไปได้ดี จากความจำเป็นที่ต้องใช้อุปกรณ์สำหรับ “work-learn from home” ขณะที่ร้านค้ารวมถึงห้างสรรพสินค้าที่ขายอุปกรณ์เหล่านี้ปิดทำการ ผู้บริโภคจึงหันมาทางออนไลน์

“NocNoc เติบโตมาก สินค้ากลุ่มเก้าอี้ทำงาน หรืออุปกรณ์สำนักงานเติบโต และยังทำให้คนที่อาจจะไม่ได้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีมากนัก หันมาสนใจ และเรียนรู้การใช้งานมากขึ้น”

“เลอทัด ศุภดิลก” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Line ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของอีคอมเมิร์ซของ LINE มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่ทำธุรกิจร่วมกันกับไพรซ์ซ่า ซึ่งให้บริการผ่านทาง Line Shopping เห็นได้ชัดว่า ผู้คนเข้ามาค้นหาสินค้ากันมากขึ้น

“โดยภาพรวมถือว่ามีการเติบโตที่ดีในแง่มุมของผู้ใช้งานที่เยอะมากขึ้น หรือแม้กระทั่งในแง่ของการค้นหาสินค้าที่เยอะมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่สินค้าทุกประเภทที่มีการเติบโต บางประเภทก็มีอัตราการซื้อที่ลดลง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงไป”

จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ได้เห็นอีกแง่มุมแตกต่างไปจากเดิม ที่ผู้คนในวงการเทคโนโลยีมักกล่าวกันว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้เกิดการ disruption แต่จริง ๆ แล้ว disruption เกิดเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเทคโนโลยีอาจจะเป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิด disruption

ขณะที่ในวงเสวนาทั้งหมด ยังเห็นพ้องกันว่า การรับมือกับวิกฤตในขณะนี้ที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการ คือ การเรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยีให้มากขึ้น ทุกอย่างคือการทดลองและลงมือทำ อาทิ การทำ digital content หรือการนำสินค้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้สินค้าได้มีการรับรู้และกระจายตัวอยู่บนดิจิทัล เพื่อให้ผู้บริโภคมีความสะดวก และสามารถเข้าถึงได้ง่าย