FLAIM Systems เตรียมความพร้อมรับมือ “ไฟป่า”

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ ปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

หลายคนยังจำภาพไฟป่าในออสเตรเลียเมื่อตอนต้นปีได้ ไฟป่าครั้งนั้นทำลายผืนป่าไป 2.3 หมื่นล้านตารางเมตร คร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อยกว่า 30 คน และมีสัตว์ป่ากว่า 500 ล้านตัวต้องสังเวยชีวิตในกองไฟ

นักวิทยาศาสตร์ บอกว่า สาเหตุหลักมาจากปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี หลายประเทศเริ่มยกระดับมาตรการในการป้องกันและควบคุมไฟป่า และส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อม คือ นำเทคโนโลยี virtual reality (VR) มาช่วยยกระดับการฝึกเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

สตาร์ตอัพที่จะพูดถึงในวันนี้เป็นสตาร์ตอัพของออสเตรเลีย ชื่อ FLAIM Systems ที่นำ VR มาพัฒนาเป็นระบบการฝึกการผจญเพลิงเสมือนจริง

เจมส์ มูลลินส์ ซีอีโอและรองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Deakin บอกว่า ระบบนี้ช่วยฝึกเรื่องการตัดสินใจในยามวิกฤต อีกทั้งช่วยให้เกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาด ทำให้เจ้าหน้าที่พัฒนาทักษะการควบคุมและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง

ระบบที่ชื่อว่า FLAIM trainer นี้จะจำลองสถานการณ์ไฟไหม้หลายรูปแบบ ทั้งไฟป่า ไฟไหม้อาคารบ้านเรือนไปจนถึงการรับมือไฟไหม้บนเครื่องบิน

ระหว่างสวม headset ผู้ฝึกจะ “เห็น” และ “รู้สึก” ถึงสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง โดยมีซอฟต์แวร์เป็นตัวควบคุมระดับของอุณหภูมิและปัจจัยแวดล้อม ซึ่งสามารถดันความร้อนขึ้นแตะระดับ 100 องศาเซลเซียสได้เลยทีเดียว

นอกจาก headset ที่จำลองภาพเหตุการณ์เสมือนจริงแล้ว ยังมีชุดพิเศษที่ปล่อยคลื่นความร้อนออกมาระหว่างการฝึกด้วย ชุดนี้ยังติดตั้งเซ็นเซอร์ที่มอนิเตอร์คลื่นหัวใจ ความดันจังหวะการเต้นของหัวใจ และระดับความเครียดของผู้สวมตลอดเวลา ข้อมูลเหล่านี้ล้วนจำเป็นต่อการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพและความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจของเจ้าหน้าที่ระหว่างการฝึกและก่อนการปฏิบัติการจริง สามารถนำไปใช้ปรับปรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

FLAIM ยังพัฒนาหัวฉีดจำลองที่ให้ผู้ฝึกรับรู้ถึงน้ำหนักและแรงดันน้ำเหมือนหัวฉีดจริงทุกอย่าง ต่างจากการฝึกทั่วไปตรงที่ไม่มีน้ำไหลออกมาจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งการฝึกนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่คุ้นเคยกับอุปกรณ์และเรียนรู้การควบคุมน้ำหนักและทิศทางน้ำในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

อุปกรณ์ทั้งหมดตกชุดละ 40,000 เหรียญ หากเทียบกับค่าใช้จ่ายในการฝึกปกติที่มีค่าสถานที่ ค่าน้ำยาดับเพลิง ค่าน้ำ ค่าเดินทาง และค่าจิปาถะอื่น ๆ ที่ครั้งละ 50,000 เหรียญก็ถือว่าคุ้ม เพราะอุปกรณ์ของ FLAIM ใช้ซ้ำได้ แถมเคลื่อนย้ายสะดวก ทำให้นำไปฝึกได้ทุกที่ทุกเวลา แถมเป็นการจำลองทั้งความร้อน น้ำ ควัน ไฟ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนจริงแต่ไม่อันตรายและไม่แพง

ข้อดีอีกอย่าง คือ FLAIM ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพราะทุกอย่างเป็นเรื่อง “เสมือน” จึงไม่ต้องเผาจริง ใช้น้ำจริง หรือฉีดโฟมดับเพลิงจริง ทำให้ลดมลพิษทางอากาศ ลดการใช้น้ำ และลดผลกระทบของสารเคมีต่อดินและแหล่งน้ำจากการใช้โฟมดับเพลิงที่มักเกิดขึ้นจากการฝึกปกติ

กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ หน่วยงานดับเพลิง องค์กรการบินฯ ที่ต้องฝึกดับเพลิงบนเครื่องบินและท่าอากาศยาน หน่วยงานในกองทัพ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และองค์กรที่ให้บริการฝึกอบรมด้านการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ FLAIM Systems ก่อตั้งในปี 2017 โดยมีมหาวิทยาลัย Deakin เป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีลูกค้าใน 16 ประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และสหรัฐ

แน่นอนว่าการฝึกเจ้าหน้าที่และอาสามัครเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกัน แต่ละพื้นที่ย่อมมีสาเหตุและปัจจัยแวดล้อมต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกประเทศควรมี คือ ความมุ่งมั่นของผู้นำในการแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างจริงจัง

น่าเศร้าที่ภาพท้องฟ้าที่ถูกย้อมด้วยเปลวเพลิงจนกลายเป็นสีแดงฉาน ภาพความสูญเสีย ภาพซากสัตว์ป่าที่ตายเกลื่อนจากเหตุการณ์ในออสเตรเลียกำลังถูกฉายซ้ำอีกครั้งที่ภาคเหนือของไทยตอนนี้


หนักกว่าตรงที่ไฟป่าบ้านเรามาพร้อมฝุ่นพิษที่สาหัส จนทำให้เชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลกขนาดนั้นแล้ว ไฟก็ยังแผดเผาไปเรื่อย ๆ ฝุ่นพิษก็ยังปกคลุมตัวเมืองทำลายปอดไปเงียบ ๆ เงียบจนคล้ายทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการดำเนินไปใน “โลกเสมือน” กระนั้น