
สัมภาษณ์
แม้จะมีโมเดลธุรกิจเป็น “ตัวกลาง” แต่ SHIPPOP ผู้ให้บริการด้านระบบโลจิสติกส์ครบวงจร เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัพไม่กี่รายที่มีกำไรต่อเนื่อง และยิ่งสูงมากในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด

Q : โควิดทำให้เติบโตมาก
ช่วงนี้โตขึ้น 15-20% จากปกติที่จะโตเดือนละ 3-5% ทั้งปีนี้เดิม financial advisor ประเมินว่า เราจะโตไม่ต่ำกว่า 60% แต่ด้วยโควิด ได้เร่งสปีดจนคาดว่าปีนี้น่าจะโตไม่น้อยกว่า 120% ตลาดโลจิสติกส์เติบโตสูงมาก ทำให้ธุรกิจอื่น ๆ ก็ให้พนักงานที่ว่าง ๆ มาเปิดบริการขนส่งแบบ same day มากขึ้น
แม้กระทั่งปรับธุรกิจมาสู่โลจิสติกส์แบบเต็มตัว เชื่อว่าอีกสักพักคนจะเริ่มเห็นว่า โลจิสติกส์คือทางรอดในยุคโควิด
Q : ตลาดเริ่มดุเดือด
เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงในเกม คนที่อยู่เดิมก็เติบโตสูง ยิ่งงานเยอะยิ่งมีปัญหาต่าง ๆ ต้องรับมือมากขึ้นแม้แต่ SHIPPOP ที่ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งเอง แต่เป็นตัวกลางประสานระหว่างผู้ส่งกับบริษัทขนส่ง ก็ต้องเพิ่มพนักงานให้เยอะขึ้น ทั้งในส่วนของ sales เพื่อรองรับลูกค้ามากขึ้น และ customer service ที่จะต้องดูแลและแก้ปัญหาให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด
Q : จะรับมือกับคู่แข่งที่เพิ่มอย่างไร
เราต้องตั้งรับกับคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะสตาร์ตอัพด้วยกันที่ปรับตัวได้เก่ง หาลูกค้าได้เร็ว ที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้นฉะนั้นต้องทำงานให้หนักขึ้น ต้องปรับกลยุทธ์ทุกวันอย่างล่าสุดได้เริ่มให้บริการแบบ on demand เป็นอีกขาหนึ่งของธุรกิจ โดยสร้างเครือข่าย rider แล้ว 3,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจที่ไม่ทับซ้อนกับพันธมิตรขนส่งของเรา ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแบบ next day แต่ก็ยังต้องค่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องเพย์เมนต์ที่ยังเป็นอุปสรรค
Q : เปิดร้านแฟรนไชส์
เป็นอีกกลยุทธ์คือ การเปิดรับฝากแฟรนไชส์ SHIPPOP SHOP และ SHIPPOP HOME เป็นร้านรับฝาก ซึ่งเริ่มเป็นปีแรก แต่ตอนนี้เปิดไปแล้ว 70 สาขา ตั้งเป้าสิ้นปี 8,000 แห่ง อาจจะดูเป็นตัวเลขที่สูง แต่ตั้งไว้ก่อนให้รู้ว่าเรากำลังจะทำอะไร ตอนนี้ในตลาดมีแฟรนไชส์รับฝากหลายราย แต่จุดเด่นคือ ในจุดให้บริการของ SHIPPOP จะมีบริการของขนส่งได้สูงสุดถึง 4 บริษัทคือ ไปรษณีย์ไทย EMS/ลงทะเบียน, FLASH EXPRESS, CJ LOGISTICS และ NINJAVAN เป็นการจับมือกับพันธมิตรขยายจุดให้บริการ โดยเป็นการเปิด-ปิดออปชั่นในแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีจุดให้บริการทับซ้อนกับพันธมิตรของเรา
การเปิดแฟรนไชส์เราไม่ได้คาดหวังตัวเลขว่า จะทำให้ยอดส่งเพิ่มขึ้นเยอะมากมาย แต่คาดหวังในแง่ของการตลาด เพราะสูตรสำเร็จของขนส่งโลจิสติกส์ ณ เวลานี้คือ การมีร้านออฟไลน์ให้มาก ๆ เพื่อให้คนรู้จัก การเปิดร้านแฟรนไชส์ของเรา เรามีโปรแกรมจัดการร้านรับฝากพัสดุให้ใช้ฟรีเลย ไม่ต้องมาเสียเงินเป็นพันเป็นหมื่น แทนที่ผมจะต้องไปลงงบฯโฆษณาตามบิลบอร์ดต่าง ๆ ก็เอาเงินตรงนี้มาใช้กับการขยายจุดให้บริการทำแฟรนไชส์ให้เป็นบิลบอร์ดของ SHIPPOP โดยแฟรนไชส์ยังได้คอมมิสชั่นจากเราตามยอดเหมือนปกติ
ขณะเดียวกันเราต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด และมีการสื่อสารแบรนด์ให้ชัดเจนว่านี่คือจุดรับฝาก ถ้าของยังไม่เข้าระบบต้องไปตามที่จุดรับฝาก แต่ถ้าของเข้าระบบแล้วเราจะดูแลอย่างดีแน่นอน
Q : ต้องระดมทุนเพิ่ม
เรามีกำไรทุกเดือน ยังสามารถใช้กำไรมา run ธุรกิจไปได้เรื่อย ๆ แต่ปีนี้โตเยอะก็มีคู่แข่งเยอะด้วย ต้องรับมือให้ได้ปีนี้เราลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 7-8 ล้าน ส่วนคนก็จะรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ SHIPPOP ยังคงมีกำไรอยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่ปีแรกที่ตั้งเราก็มีกำไรมาตลอด
Q : ปัญหาอุปสรรคในตอนนี้
เรื่องคู่แข่งคงไม่เท่าไร แต่กังวลมาก กลัวจะมีเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ถ้าเกิดขึ้นแม้ว่าธุรกิจขนส่งจะได้รับการยกเว้น แต่ทุกอย่างจะชะงักหมด ขนาดตอนนี้เคอร์ฟิวก็ทำให้ทุกขนส่งต้องล่าช้าออกไปบ้าง มีแต่ไปรษณีย์ไทยที่ผ่านตลอด ก็หวังว่าจะไม่มี
Q : ยุคหลังโควิดธุรกิจจะเปลี่ยนอีก
เท่าที่คุยกับ founder หลาย ๆ คน มองว่า กว่าโควิดจะหายไป สถานการณ์จะกลับมาปกติคือต้นปีหน้า แต่กว่าจะถึงจุดนั้น คงทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์หมดแล้ว โควิดได้บังคับให้คนต้องไปออนไลน์เร็วขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ผูกโซลูชั่นทั้งขนส่ง ทั้งเพย์เมนต์ ทั้งบริการต่าง ๆ ให้เบ็ดเสร็จได้บนออนไลน์ ทำระบบหลังบ้านให้รองรับ ทุกอย่างต้องปรับตัวให้ได้เร็ว ต้องหารายได้ใหม่เข้ามาเสริมตลอด อย่างการขยายจุดให้บริการออฟไลน์เพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกช่องทางที่เราจะหารายได้ใหม่ ๆ ในอนาคต ที่ไม่ใช่แค่ค่าแฟรนไชส์ เพราะสตาร์ตอัพบ้านเรามุ่งเจาะแต่ออนไลน์ ไม่มีใครเจาะออฟไลน์
ตามแผนที่วางไว้คือ อีก 4 ปีจะต้องเร่งสปีดกันต่อไป จากนี้ก็จะเห็นการหาโมเดลรายได้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง