Young Safe Internet Leader Camp ติดอาวุธเยาวชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ผลักให้เด็กๆ ต้องก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งต้องใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารยามต้อง “อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ” และใช้เป็นช่องทางในการเรียนรู้ในวันที่ต้องปิดโรงเรียน   นั่นย่อมเป็นการเพิ่ม “ความเสี่ยง” ให้เด็กๆ ต้องเผชิญกับภัยจากโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น

UNICEF องค์กรกลางภายใต้สหประชาชาติ ผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทั่วโลก ได้ระบุถึง ความเสี่ยง 5 ประเภทที่ เด็กๆ ต้องเผชิญจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม ได้แก่

Content risk ความเสี่ยงที่เกิดจากการเข้าถึงข้อมูลเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย

Contact risk ความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อจากการมีปฏิสัมพันธ์กับมิจฉาชีพ และบุคคลที่ไม่น่าไว้ใจ

Commercial risk ความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อทางการค้าการซื้อขายที่ไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเกินจริง

Conduct risk ความเสี่ยงในการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและกลายเป็นผู้กระทำต่อผู้อื่น

Time-consuming risk ความเสี่ยงในการใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นเวลานานเกินไป

ฉะนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันให้ “เด็กๆ” ก่อนตกเป็นเหยื่อ จึงเป็นอีกหนทางที่ผู้ปกครองและทุกฝ่ายในสังคมควรช่วยกันผลักดัน

หนึ่งในนั้นคือ โครงการ Young Safe Internet Leader Camp “ค่าย YSLC” โดย “ดีแทค”  ซึ่ง 27 เม.ย. นี้จะเริ่มเปิดค่ายเป็นปีที่ 2 แล้ว และครั้งนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบให้เป็น “ค่ายออนไลน์” ซึ่งมีเด็กๆ กว่า 500 ชีวิตเข้าร่วมกิจกรรม

“อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) “ดีแทค” กล่าวว่า  เด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นต้องได้รับการให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะในการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ และหนึ่งในปัญหาที่เราตระหนักดีคือ Cyberbullying ซึ่งเชื่อว่าเด็กส่วนใหญ่ต่างมีประสบการณ์ทั้งเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ดังนั้น น้องจะเป็นคนที่เข้าถึงและมีแรงผลักดันที่จะอยากแก้ปัญหานี้ดีที่สุด

ค่าย YSLC ได้ใช้ Design thinking มาเป็นกระบวนการเรียนรู้หลักช่วยให้เด็กๆ เข้าใจต่อปัญหาหนึ่งๆ ถ่องแท้และอย่างเป็นระบบ ผสานกับความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากคนหลากหลายมิติมาสร้างไอเดีย ตลอดจนแนวทางแก้ไข เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างลึกซึ้งและรอบด้าน

ที่ยิ่งไปกว่านั้น ค่าย YSLC ยังให้ทุนจำนวนหนึ่งเพื่อให้น้องๆ ได้นำไปต่อยอด สามารถแก้ไขปัญหาที่น้องๆ สนใจด้วยมุมมองของน้องเอง

“ชวนันท์ ทัศนาภูมิ” ครูที่ปรึกษากลุ่ม The Project Breaker ระบุว่า  สิ่งที่ค่าย YSCL พิเศษกว่าค่ายอื่นๆ คือการออกแบบวิธีการเรียนรู้ที่ทลายกำแพงของห้องเรียน เรียนรู้โลกกว้างได้อย่างเต็มที่ ได้พบเจอสังคมภายนอก จัดสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อความสนใจของน้องๆ เอง ไม่จำกัดว่าถูกหรือผิด พร้อมกับการพัฒนาผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ไม่นิ่งอยู่กับที่

“การให้ทุนต่อยอดเป็นแรงจูงใจให้น้องๆ นักเรียนกล้าที่จะคิด ลงมือและต่อยอด เพื่อให้สามารถพัฒนาสู่โซลูชั่นในการแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เกินความคาดหมายไปมาก เรียกได้ว่าปลดล็อคศักยภาพของน้องๆ สู่โลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างแท้จริง”

โดย  3 โครงการของค่าย YSCL ปีหนึ่ง ที่ได้รับเลือกได้รับทุนไปต่อยอด คือ

เข้าใจคนแกล้งและคนถูกแกล้งผ่าน “การ์ดเกม”

จากโจทย์ที่ว่า ‘จงออกแบบกิจกรรมเพื่อต่อต้านภัยร้ายในโลกออนไลน์’ ทีม Good Net Good Life จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กทม. จึงเลือกหยิบประเด็นการล้อเลียนและกลั่นแกล้งของเด็กๆ ด้วยกันเอง อย่าง ‘Cyberbullying’ มาเป็นโจทย์

“สิ่งแรกที่เราทำเป็นการกำหนดคอนเซปต์ของการ์ดเกม ออกแบบให้ผู้เล่นสามารถรับบทบาทเป็นได้ทั้งคนแกล้งและคนถูกแกล้ง เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย การ์ดเกมจึงประกอบไปด้วยการ์ดคำถาม การ์ความรู้สึก และการ์ดรูปภาพ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นเปิดอกอธิบายความในใจเมื่อโดนกลั่นแกล้ง ซึ่งมีหลากหลายความรู้สึก ทั้งอายมาก เสียใจ เมื่อเพื่อนๆ ที่ร่วมเล่นในวงได้ฟังจึงเข้าใจมากขึ้นว่าการกลั่นแกล้งนั้นไม่ดีอย่างไร”

ยั้งคิดยั้งทำ ฮาวทูตั้งสติก่อนแชร์ข่าวมั่ว

จากการสำรวจสื่อออนไลน์ในช่วงปี 2561-2562 ในเครือข่ายโรงเรียนรัตนศึกษา จ.สุพรรณบุรี พบว่า การแชร์ข่าวปลอมหรือข่าวที่มีข้อมูลเกินจริง เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นและกระจายไปสู่กรุ๊ปแชตของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือเพื่อนต่างโรงเรียน

ทีม Young kids…ยั้งคิด จากโรงเรียนรัตนศึกษา จ.สุพรรณบุรี จึงได้นำกิจกรรมส่งเสริมความรู้ในรูปแบบ “ฐานเกม” มาใช้ในการกระตุ้นความสนใจและการเรียนรู้ ใช้ฐานเกมในงานกีฬาสีเป็นต้นแบบ เพื่อแทรกความรู้เรื่อง การใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างถูกต้องและปลอดภัย และยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อป ในหัวข้อ ‘การใช้อินเทอร์เน็ตแบบยั้งคิด’ โดยเชิญทีมพี่ๆ วิทยากรจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยทำกิจกรรม  และยังมี ‘กิจกรรมจริงหรือมั่ว’  ทำบอร์ดจำลองการแชร์ข่าวปลอมขึ้นมาในโรงเรียน โดยเปิดให้แสดงความคิดบนบอร์ดว่าข้อมูลนี้จริงหรือมั่ว

Chatbot นวัตกรรมส่งต่อเหยื่อจาก Cyberbullying สู่ผู้เชี่ยวชาญ

ทีม The Project Breaker จากโรงเรียนสวนศรีวิทยา จ.ชุมพร ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปัญหาในโรงเรียนที่คู่ขัดแย้งกันแล้วใช้โซเชียลมีเดียส่งต่อข้อมูลจนเรื่องบานปลาย จึงได้ใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์พัฒนา Chatbot ที่น้องๆ มีความรู้ในระดับพื้นฐาน โดยฟังก์ชั่นหลักมีหน้าที่ในการรับฟังปัญหาและส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้เข้ามาแก้ปัญหา

สำหรับโครงการที่ เด็กๆ จาก ค่าย YSLC ปี 1  ได้พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างสังคมโรงเรียนและชุมชนเพื่อนที่เข้มแข็ง นั้น สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ https://www.safeinternet.camp/bestparctice