ลุ้นเลื่อนกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล

ลุ้น รมต.ดีอีเอสเคาะ “เลื่อน-ไม่เลื่อน”บังคับใช้ กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก่อน 28 พ.ค. ขณะที่พิษโควิดซัด สำมะโนประชากร ปี”63 พับทั้งโครงการดึงงบฯ 400 ล้าน กู้วิกฤต

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) จะถูกบังคับใช้ทั้งฉบับในวันที่ 28 พ.ค.นี้ หลังจากได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเริ่มมีผลบังคับใช้เฉพาะการจัดตั้งสำนักงาน และคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งแต่ 27 พ.ค. 2562

การบังคับใช้ พ.ร.บ.ทั้งฉบับจะมีผลให้ทุกหน่วยงานจะต้องเตรียมพร้อมในการ “จัดเก็บ-ใช้-ประมวลผล” ข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติของกฎหมาย ซึ่งหลักสำคัญ คือ 1.การเก็บข้อมูล ต้องได้รับการยินยอมอย่างชัดเจนจากเจ้าของข้อมูลถึงจะเก็บได้ และเก็บได้เท่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น 2.เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจะต้องมีกระบวนการเก็บรักษาข้อมูลอย่างมั่นคง ไม่ให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในรูปแบบกระดาษ หรืออิเล็กทรอนิกส์ และ 3.การนำข้อมูลไปใช้ต้องเป็นไปตามเท่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

“ข้อเสนอจากหลายภาคธุรกิจที่ต้องการให้กระทรวงดิจิทัลฯออกพระราชกฤษฎีกา เลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อนนั้น ขณะนี้ทางรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ (พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์) รับทราบข้อเสนอแล้ว แต่กำลังอยู่ระหว่างศึกษาว่าควรจะเลื่อนการบังคับใช้ออกไปหรือไม่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องรอผลการศึกษาให้รอบด้านก่อนจะมีข้อสรุปอีกครั้ง”

ส่วนการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อนำไปใช้สำหรับสู้ภัยโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น ปลัดกระทรวงเปิดเผยว่า มียอดรวมทั้งหมด 668 ล้านบาท โดยงบประมาณก้อนใหญ่สุดมาจากการยกเลิกโครงการสำรวจสำมะโนประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท

“สำมะโนประชากรเป็นโครงการที่ต้องลงพื้นที่สำรวจทุก ๆ 10 ปี และครบรอบที่จะต้องสำรวจในปีนี้ แต่ไม่สามารถลงพื้นที่เก็บข้อมูลได้ จึงยกเลิกทั้งโครงการแล้วจะมีการตั้งเรื่องของบประมาณปี 2564 แทน นอกจากนั้นเป็นการตัดงบฯการจัดซื้ออุปกรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ราว 5-10%”