โควิดพิสูจน์ยูสเคส 5G ดัน AIS Next ปั้น ‘ซูเปอร์แอป’

สัมภาษณ์พิเศษ

 

เป็นอีกบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทุ่มเทสรรพกำลังช่วยประเทศไทยต่อสู้กับภัยโควิด-19 ควบคู่กับการเดินหน้าธุรกิจ “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดมุมมอง “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ดังนี้

Q : ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

โควิด-19 กระทบทุกอุตสาหกรรมไม่เว้นแม้แต่โทรคมนาคม แม้หลายคนจะมองว่าการใช้งานจะมากขึ้น ซึ่งเอไอเอสเพิ่มขึ้น 20% แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจ กำลังซื้อ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายที่ต้องปิดตามห้าง ทำให้ยอดขายใหม่ลดลง คนใช้เดิมก็จำเป็นต้องลดราคาลงให้ บวกกับยืดการชำระเงินให้ลูกค้าโพสต์เพดจึงมีผลกระทบไม่มากก็น้อย แต่เราจะกระทบน้อยเทียบกับการบินหรือโรงแรม เราเชื่อว่ากระทบแต่ยังพอพยุงอยู่ และอยู่ในจุดที่คิดว่าควรกลับมาช่วยเหลือสังคมด้านอื่น ๆ

Q : ทุ่ม 100 ล้านช่วยสู้โควิด

เราเร่งเดินหน้าภารกิจเอไอเอส 5 จี สู้ภัยโควิด ซึ่งนอกจากการนำเครือข่ายทั้ง 5 จี ไฟเบอร์ ซูเปอร์ไวไฟ ติดตั้งให้โรงพยาบาลเพื่อให้มีเครือข่ายสื่อสารที่สมบูรณ์ ยังนำโรบอตฟอร์แคร์หุ่นยนต์ไปช่วยแบ่งเบาภาระ ลดความเสี่ยงในการทำงานแพทย์และพยาบาล ตอนนี้เข้าเฟส 3 นำ “เอไอ” ระบบอัจฉริยะที่วิเคราะห์ภาพซีทีสแกนวินิจฉัยความเสี่ยงในการติดโควิด ทราบผลได้ใน 30 วินาที ช่วยทำเทเลเมดิซีน เรื่องพวกนี้อาจไม่ใหม่ แต่ 5 จี ทำให้วิเคราะห์ได้รวดเร็ว ละเอียดแม่นยำ ในอนาคตจะพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นอีก
เป็นการนำ 5 จี บวกพลังความคิดของคนของเรา มาช่วยสาธารณสุขของไทย

Q : โควิดทำให้ 5 จี เกิดเร็วขึ้น

ที่ผ่านมามองอีก 2 ปี 5 จีถึงจะมา แต่ต้องไป 5 จี ในฐานะผู้นำตลาด จึงลงทุนแบบ 4 จีเอนเนเบิล ใช้ได้ทั้ง 5 จี 4 จี แต่โควิดทำให้ไป 5 จีเร็วขึ้น เมื่อก่อนคิดไปไกลหายูสเคสล้ำ ๆ แต่โควิดทำให้เห็นยูสเคสที่แม้ไม่ใเรื่องใหม่ แต่ 5 จี แสดงศักยภาพได้ชัดเจนต่างจาก 4 จี ฉะนั้น บอกได้เลยว่า 5 จี เกิดขึ้นจริงใช้ได้จริงแล้ว ไม่ใช่แค่ทดลองทดสอบ โดยเฉพาะยูสเคสด้านสาธารณสุข เราลงโครงข่าย 5 จี ไปทั้ง 77 จังหวัด ไม่ใช่แค่ตั้งเสาโชว์ แต่ลงไปทุกโรงพยาบาลที่รักษาโควิด ให้ใช้งานจริง ๆ

Q : จะกลายเป็นธุรกิจใหม่ของเอไอเอส

ที่ให้บริการอยู่ตอนนี้เอไอเอสไม่ได้คิดเงิน ให้โรงพยาบาลใช้ฟรีทั้งดาต้าทั้งโซลูชั่นจากพาร์ตเนอร์ซัพพอร์ตให้หมด แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลาย ก็คงเหมือนธุรกิจปกติเป็นแพ็กเกจคอร์ปอเรต
ดาต้า ส่วนโซลูชั่นต่าง ๆ เป็นเรื่องที่พาร์ตเนอร์แต่ละรายไปคุยกับรพ.เอง เอไอเอสเน้นในแง่การขายแบนด์วิดท์

Q : แผนการลงทุนต้องปรับ

ยังต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องและเพิ่มเติมในบางพื้นที่ เพราะอินฟราสตรักเจอร์ของเรา เป็นเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ทุกคนต้องเรียนหรือทำงานที่บ้าน หากรองรับไม่ได้จะกระทบลามไปอุตสาหกรรมอื่นด้วย

Q : จะรีสตาร์ตธุรกิจได้เมื่อไร

ตอนนี้ธุรกิจเราก็ไม่ได้หยุด แม้ห้างจะปิด แต่ก็ยังเปิดศูนย์บริการต่าง ๆ ตามตึกแถวที่ไปเช่ามา ธุรกิจยังเดินต่อเนื่อง แต่จะกลับมาสมบูรณ์ 100% ต้องรอดูสถานการณ์จริงจัง
ที่สำคัญคือ เมื่อกลับมาแล้วจะเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะนิวนอร์มอลที่ทุกคนพูดกันอยู่ ก็อาจต้องปรับบิสซิเนสโมเดล

Q : โควิดทำให้เรียนรู้เยอะ

ไม่ใช่แค่เอไอเอส ทุกคนได้เรียนรู้เยอะ เรื่องนิวนอร์มอลคุยกันเยอะ การบริหารคนได้เปลี่ยนความคิดไปเลย จากที่เคยคิดว่าฟังก์ชั่นแบบนี้จำเป็นต้องมี แต่พอเวิร์กฟรอมโฮมแล้วก็พบว่า อ้าวไม่ต้องมีก็อยู่ได้นี่ แต่เราก็มีนโยบายไม่เอาคนออกนะ แต่จะเอาเขาไปทำอย่างอื่น จะเห็นชัดว่า เรื่องของคนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ จะต้องรีสตรักเจอร์อย่างมาก ทั้งที่เอไอเอสเป็นองค์กรที่ทุกคนต้องทำงานเยอะอยู่แล้ว ก็ยังมีไขมันอยู่

2.สิ่งต่าง ๆ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ฉะนั้น บิสซิเนสโมเดลต้องเปลี่ยนอย่างคอลเซ็นเตอร์ ที่จัดเวรทำงานตามเคอร์ฟิว ทำให้เกิดศักยภาพได้มาก บางส่วนเวิร์กฟรอมโฮมได้ บางส่วนจ้างแค่วันละ 3 ชั่วโมงก็ได้ แล้วพนักงานยิ่งรักเรา เพราะมีเวลาดูแลพ่อแม่ดูแลลูกได้ หรือร้านเทเลวิซเดิมเปิดในห้างสรรพสินค้า ซึ่งค่าเช่าแพงมาก พอห้างปิด เราก็ให้ไปเช่าตึกแถวเพื่อเปิดให้บริการลูกค้า จากเดิมที่เคยคิดว่า
ตึกแถวตายไปแล้ว ปรากฏว่ายอดขายอาจลดแต่เทียบต้นทุนค่าเช่าที่ถูกกว่าห้างมหาศาล
จากที่เคยต้องเครียดว่ายอดขายจะพอค่าเช่าหรือเปล่า ตอนนี้กลายเป็นตัวเบา ๆ หลายรายขอเช่าตึกแถวแบบนี้ต่อ เพราะห้างเปิดแล้วก็ไม่รู้ว่าคนจะมาเดินเยอะเหมือนเดิมหรือเปล่า
นี่คือขนาดคิดทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ก็ยังต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่

3.คือ ดิจิทัลไลเซชั่นจะดีขึ้น เอไอเอสทำดิจิทัลเซอร์วิสและผลักดันเรื่องนี้มานาน วันนี้เทคโนโลยีพร้อมแล้วเราก็โทษว่า พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ยอมไป แต่วันนี้ด้วยโควิดทำให้คนคุ้นและเริ่มยอมรับ
เมื่อดิจิทัลไรเซชั่นเกิดแล้ว เราไม่เก่งพอ ผู้บริโภคก็จะไปใช้บริการของคนอื่น แล้วผมกลัวมาว่าคนไทยจะตายหมด เพราะฝรั่งเข้ามาหมด ไม่มีซอฟต์แวร์คนไทยเลย ต้องโทษว่า เรายังไม่เก่งพอ ยังไม่ทำให้แอปพลิเคชั่น
ของเรา ง่ายที่ผู้บริโภคจะใช้ ต้องซีเคียวร์พอ
ทำให้คนมั่นใจที่จะใช้ และต้องมีอีโคซิสเต็มให้เพียงพอ เหมือนที่วีแชท ไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดีย ฉะนั้น จะเป็น
ซูเปอร์แอปต้องมีอีโคซิสเต็ม

Q : โทรคมนาคมจะเปลี่ยน

ตลาดโทรคมนาคมทั้งโลกกำลังมองว่าจะแล้วมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร บริษัทที่ปรึกษาบริษัทวิจัยระดับโลก ประเมินไว้ 7 -8 อย่าง แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องพื้น ๆ
ที่บอกให้ต้องไปออนไลน์ ออฟไลน์จะตายหมด แต่ผมก็ไม่ได้เชื่อ 100% เพราะว่าบริบทบ้านเรายังมีเสน่ห์ของออฟไลน์ ยังเป็นสัตว์สังคม ถึงวันหนึ่งเมื่อเปิดประเทศแล้ว ก็ยังไม่ได้ออนไลน์ 100% หรอก ยังอยากไปลูบ ๆ คลำ ๆ แล้วห้างไทยเก่งทำการตลาด

Q : โจทย์ใหม่ทีม AIS Next

ให้ทำ 2 อย่าง 1.พัฒนาโรบอตต่อเนื่อง เพราะวงการสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ 2.ให้มองซูเปอร์แอปว่า ของเราคืออะไร ในครึ่งปีหลังจะทำเรื่องซูเปอร์ของเอไอเอสให้ง่ายไม่ใช้คำว่า ซูเปอร์แอปก็ได้แอปดูเทพไป แต่ต้องการให้เป็นแอปพลิเคชั่นที่คนไทยตื่นขึ้นมาหยิบ my AIS ขึ้นมาใช้ทุกวัน วันนี้ my AIS เป็นแค่อีเซอร์วิสอย่างเดียว เข้ามาจ่ายบิลเดือนละครั้ง ซึ่งมันเป็นเรื่องยากแน่นอน ไม่งั้นป่านนี้ก็รวยไปแล้ว แต่ต้องทำ ถึงได้มีทีม AIS Next ที่จะเข้ามาตีโจทย์ผู้บริโภคให้แตก