ไม่สายเกินไป ถ้าอยากปรับธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล

Photo by Denis Charlet / AFP
คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

เมื่อช่วงที่ผ่านมามีธุรกิจขนาดใหญ่มาปรึกษาผมเรื่องที่ต้องการเข้าสู่ออนไลน์แบบเร่งด่วน แต่มีระยะเวลาในการทรานส์ฟอร์มสั้นมากคือไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ ต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก อย่างที่เห็นกันว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาทองของธุรกิจดิจิทัล เรียกได้ว่ามีอัตราการเติบโตสูงมากเกือบทุกตัวจะยกเว้นก็แต่ธุรกิจทางด้านท่องเที่ยว

การระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วขึ้น และเรียนรู้การนำเอาดิจิทัลเข้ามาใช้ได้เก่งมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อโควิด-19 จบลงคือการใช้ชีวิตแบบใหม่หรือที่เรียกว่าเป็น new normal นั่นเอง

ไม่เพียงแต่คนเท่านั้นธุรกิจทั้งหลายเองก็ต้องปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลหรือออนไลน์อย่างเร่งด่วน ใครที่ยังไม่ปรับตัวเองเข้าสู่ดิจิทัล บอกได้เลยว่ากำลังเสียเปรียบอย่างมาก และผมเชื่อว่ายังมีอีกเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว อยากบอกท่านที่เป็นเจ้าของธุรกิจว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้นะครับ

การจะปรับธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์ในบางเรื่องทำได้เลย เช่น วิธีการทำงาน วิธีการสื่อสาร ระบบเอกสาร เหล่านี้ทำได้ไม่ยากเท่าไหร่ หรือหากเป็นธุรกิจที่มีขนาดกลาง มีข้อมูลไม่มากนักก็ยังพอมีโอกาสทำได้ แต่หากเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ การจะปรับเอาข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลขึ้นไปขายบนออนไลน์ทั้งระบบ มีระบบ ERP มีระบบบัญชีขนาดใหญ่ มีระบบสต๊อกสินค้านับหมื่นชิ้นมีระบบ back office ฯลฯ เป็นเรื่องที่ท้าทายมากครับ ต้องใช้เวลามากพอสมควร

คนที่ปรับตัวไปออนไลน์แล้ว เมื่อมีโควิด-19 เข้ามาต้องบอกว่าพวกเขามีความได้เปรียบสูงมาก อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่าในยุคนี้การมีสาขามาก ยิ่งเป็นภาระมาก เพราะทุกสาขาต้องปิดหมดแต่การขายในช่องทางออนไลน์กำลังเติบโตสูง ใครที่ได้เตรียมการในเรื่องออนไลน์มาแล้วตอนนี้ได้เปรียบมาก คนที่ยังไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทัน และอยากจะเข้ามาขายออนไลน์ถือว่าเป็นงานหนักมากทีเดียว

ที่ผ่านมาคนไทยขายของออนไลน์อยู่ 3 ช่องทางคือ มาร์เก็ตเพลซ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย แต่ในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมามีช่องทางการขายใหม่ขึ้นโซเชียลมีเดียและน่าสนใจมากทีเดียว นั่นคือ บรรดาสถาบันการศึกษาต่าง ๆ พากันออกมาเปิดเป็นมาร์เก็ตเพลซของตนเอง

มีการโพสต์ขายของจากบรรดาคนที่เป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน แต่ละคนจะไปโพสต์เรื่องราว ไปขายของ แต่มีบางส่วนที่ขายของจริง ๆ อารมณ์เดียวกับการเปิดท้ายขายของ บางกลุ่มมีสมาชิกเป็นแสนคนเลยทีเดียว

ผมลองเข้าไปเพ่งดูก็จะมีพวกที่ขายของกันจริง ๆ พวกที่เข้าไปเจอเพื่อน และบางคนก็เน้นโพสต์เรื่องตลกหรือตั้งกระทู้ต่าง ๆ การขายของในกลุ่มเหล่านี้เป็นการขายจริง

ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือ ความเป็นพี่เป็นน้องทำให้มีสิ่งที่เชื่อมโยงกัน มีความผูกพัน มีการติดต่อทักทาย ช่วยเหลือกัน ทำให้เกิดรูปแบบการค้าแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องที่เรียนสถาบันเดียวกัน คณะเดียวกันจะช่วยทำให้เกิดความเชื่อถือขึ้นมาถึงเวลาซื้อขายก็ง่ายขึ้น ผมว่านี่เป็นช่องทางหนึ่งที่คนทำธุรกิจต้องเข้าไปดู ผมเองก็ให้ทีมงานในบริษัท TARAD.com ช่วยกันไปโพสต์แคมเปญที่เปิดบริการฟรีเพื่อช่วย SMEs ในช่วงวิกฤตโควิด โดยทุกคนจะไปโพสต์ในกลุ่มขายของตามสถาบันของตัวเอง ปรากฏว่ามีคนเข้ามาร่วมแคมเปญมากทีเดียว

ผมอยากให้คุณลองทำดูเช่นกัน หากต้องการที่จะปรับตัวเข้าไปในช่องทางออนไลน์ บอกได้เลยว่าสินค้าและบริการของคุณจะเข้าถึงคนไทยในระดับประเทศได้ไม่ยากเลยทีเดียว