ยืดเยื้อรวม “ทีโอที-แคท” โครงสร้าง “คน” ด่านสำคัญ NT

14 ก.ค. 2563 เป็นวันที่ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม จะต้องควบรวมเป็น “บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ NT ให้เสร็จตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 14 ม.ค. 2563

แต่ล่าสุด “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้เตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการควบรวมออกไปอีก 6 เดือนโดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อกระบวนการควบรวม

“แต่จะเร่งเดินหน้าการควบรวมให้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด เพราะโควิด-19 ทำให้เทรนด์การทำงานด้วยดิจิทัลมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงเป็นโอกาสที่ NT จะเข้าไปซัพพอร์ตได้”

โดยงานแรกที่จะต้องให้รีบดำเนินการหลังควบรวมเสร็จสิ้น คือ การปรับปรุงและเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะเป็น 4G, 5G ไฟเบอร์ออปติกให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อเข้าไปซัพพอร์ตการใช้งาน 5G ของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะด้านการแพทย์สาธารณสุข

ขณะที่ปัญหาในการควบรวมเชื่อว่าจะทยอยได้ข้อยุติได้ทั้งหมด เพราะทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันแล้วว่า การควบรวมคือทางออกที่ดีที่สุดของทั้ง 2 บริษัท

ยากสุดคือเรื่อง “คน”

“พิพัฒน์ ขันทอง” กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จุดที่ยากที่สุดสำหรับการควบรวมทั้ง 2 บริษัท คือ การทำ “โครงสร้างคน” เพราะทั้งทีโอทีและแคทมีพนักงานรวมกันกว่า 1.5 หมื่นคน แยกเป็นทีโอที 1.3 หมื่นคน และแคท 5 พันคน

“มองเผิน ๆ อาจจะดูว่าโครงสร้างคนของสององค์กรคล้ายกัน แต่จริง ๆ ไม่เหมือนกันทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะต้องได้รับไม่น้อยไปกว่าเดิม”

ทางออกคือ การสร้าง job description และเฟ้นหาคนที่มีคุณภาพที่มีอยู่ในองค์กรทั้งสองนำมาวางให้ถูกที่เหมาะกับงาน ซึ่งเป็นเรื่องยากกว่าการสร้างแผนธุรกิจ เพราะจะต้องวางให้รองรับไปถึงการก้าวสู่ยุค 5.0 ในอนาคตด้วย ไม่ใช่มองแค่ 4.0

โดยขณะนี้การปรับปรุง TOR (ข้อกำหนดเงื่อนไขทางเทคนิค) ในการจัดจ้างที่ปรึกษาด้านบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยในการวางโครงสร้างคนในการควบรวม ให้มีความรัดกุมสอดคล้องกับความต้องการ นอกเหนือจากการจัดจ้างที่ปรึกษาด้านกฎหมายและแผนธุรกิจ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม

ต้องโยกงบฯ ลงทุนสู้โควิด

ส่วน “ความล่าช้า” ในการควบรวมเป็น NT จะมีผลอย่างไรนั้น กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอทีระบุว่า “ไม่น่าจะมีผล”

เนื่องจากทั้งสองบริษัทต่างยังสามารถทำธุรกิจไปได้ตามแผนเดิมที่วางไว้ในทุกสายงานธุรกิจ ส่วนการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ซึ่งเดิมก่อนหน้านี้อาจจะมีการท้วงติงให้ชะลอการลงทุนไว้ก่อนจนกว่าจะควบรวมเสร็จนั้น

ล่าสุดด้วยสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ต้องชะลอการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งยังต้องปรับการใช้งบฯให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลช่วยสู้โควิด

“รัฐบาลมีนโยบายไว้ชัดเจนว่า การลงทุนโครงการใหม่ของรัฐวิสาหกิจจะต้องเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ฟื้นตัวจากโควิด ซึ่งทีโอทีกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการปรับโยกงบประมาณราว 1,200 ล้านบาทมาใช้ในส่วนนี้

โดยเดิมเป็นงบฯ ในส่วนของการฝึกอบรมต่าง ๆ ก็จะนำมาใช้สร้างงานให้พื้นที่ต่างจังหวัด อาทิ การขุดท่อเพื่อเปลี่ยนจากสายทองแดงเป็นไฟเบอร์ออปติก ซึ่งทีโอทียังมีพื้นที่ท่อร้อยสายที่ใช้สายทองแดงอยู่เป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดให้อนุมัติ 19 พ.ค.นี้”

ควบรวม “รัฐวิสาหกิจ” ครั้งแรก

ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทั้งสององค์กรเดินหน้าในการควบรวมตามมติ ครม.อย่างเต็มที่ แต่สถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบในหลายส่วน อาทิ ที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่ส่งคณะทำงานเข้ามาในประเทศไทยก็ไม่สามารถดำเนินการได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งเจ้าหนี้ต่างประเทศของทั้งสององค์กรทำได้ล่าช้า การทดสอบระบบร่วมกันในพื้นที่ต่างจังหวัดทำได้ยาก

“อะไรที่มีเกี่ยวกับโควิด-19 ก็เร่งเดินหน้าเต็มที่ ขั้นตอนปัจจุบันมี 13 คณะทำงานย่อยที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเดินหน้าควบรวม ซึ่งได้กำหนดงานที่ต้องทำตามกรอบเวลาไว้หมดแล้ว”

แต่เป้าหมายในการควบรวมตามมติ ครม.ไม่ใช่เพียงแค่การ “รวม” ให้เหลือองค์กรเดียว แต่ต้องการลดความซ้ำซ้อนของการลงทุน การดำเนินการของทั้งสององค์กรเพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพ

ที่สำคัญคือ ครั้งนี้เป็นการควบรวมรัฐวิสาหกิจแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีหลายขั้นตอนต้องดำเนินการ

โครงสร้างเงินเดือนไม่ใช่ปัญหา

“การควบรวมตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะทำโอเปอเรชั่นที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดให้เกิดประโยชน์เป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาการแบ่งเลเยอร์การทำงานของแต่ละองค์กรแตกต่างกัน บางส่วนแคทแบ่งเป็นหน่วยธุรกิจเบ็ดเสร็จ แต่ทีโอทีแยกเป็นส่วนงานขายกับโปรดักต์ออกจากกัน อีกเรื่องคือสิทธิประโยชน์ของพนักงานซึ่งมีนโยบายย้ำไปก่อนหน้านี้ว่า จะไม่ลิดรอนสิทธิประโยชน์เดิมที่ได้ แต่จะทำอย่างไรเมื่อทั้ง 2 องค์กรให้ความแตกต่างกันอยู่ก็ต้องมาคุยกัน โดยเฉพาะเรื่องสภาพการจ้างต้องให้ได้ข้อสรุปก่อน แต่ในภาวะนี้ก็ต้องหลีกเลี่ยงการประชุมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก”

ขณะที่ปัญหาของจำนวนผู้บริหารและโครงสร้างเงินเดือนที่ทั้งสององค์กรมีความแตกต่างกัน จึงคาดว่าจะเป็นปัญหาหลัก แต่ “กรรมการผู้จัดการใหญ่แคท” เชื่อว่าเป็นเรื่องที่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้

“มองว่าไม่ใช่ปัญหาหลัก หากทั้ง 2 หน่วยงานมองความเป็น NT มองการอยู่รอดขององค์กร มองว่าต่อไปจะเข้าไปสนับสนุนการทำงานของภาครัฐอย่างไร ก็จะเห็นโอกาสอีกมากมายที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่าง NT ควรจะทำเพียงหน่วยเดียว ไม่ต้องมานั่งแข่งขันกันเหมือนเมื่อก่อน ยิ่งเมื่อมีโควิด-19 เข้ามาผลักให้องค์กรต่าง ๆ ต้องก้าวสู่การทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ยิ่งเป็นโอกาสที่จะอาศัยศักยภาพของ NT เข้าไปซัพพอร์ต รวมถึงการบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ทำให้ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญกับด้านดิจิทัลมากขึ้น NT สามารถเข้าไปเป็นหน่วยงานกลางซัพพอร์ตได้”