ฉลองวัน “เกษตรกร” กับช่องทางเสิร์ฟ “ผักดีผลไม้อร่อยข้าวปลอดสาร” ส่งตรงถึงบ้าน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ วันพืชมงคล เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีของไทย ในฐานะเป็นอาชีพที่มีส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน

และในยามที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทุกย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้กระทั่งภาคการเกษตร ซ้ำยังมีภัยแล้งเข้าซ้ำเติม แต่ก็มีองค์กรและคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นมาใช้ “เทคโนโลยี” ในการพยุงภาคเกษตรให้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันในฝั่ง “ผู้บริโภค” ก็เป็นโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ดีมีคุณภาพตรงใจ

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมเปิดประตูสู่เกษตรกร ที่นอกเหนือไปจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าดังอย่าง Lazada shopee รวมไปถึง kaidee (Farmkaidee) ที่มีสินค้าเกษตรวางจำหน่ายอยู่ไม่น้อยเช่นกัน


เว็บตลาดกลาง

เริ่มที่ช่องทางพื้นฐานของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่เพิ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ “ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com” ภายใต้สโลแกน “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย เพียงคุณสั่ง เราพร้อมส่ง” เพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรตัวจริงจากทั่วประเทศ คัดสรรผลผลิตคุณภาพ ตั้งแต่ระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีทั้งผลผลิตสด สินค้าแปรรูป ที่เกษตรกรแต่ละรายจะเปิดช่องทางโซเชียลมีเดียให้สั่งซื้อได้

เช่นเดียวกับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้เปิดเว็บไซต์ www.DGTFarm.com เป็นตลาดกลางให้เกษตรกร และผู้บริโภคได้ซื้อสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกว่า 1,006 ราย มีสินค้าให้เลือกกว่า 553 รายการ มีทั้ง ข้าว ผักผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป

หรือแม้แต่ thailandpostmart ตลาดกลางของ “ไปรษณีย์ไทย” ก็มีสินค้าเกษตรชั้นดีขายอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นลิ้นจี่ มะม่วง เมล่อน แม้กระทั่ง ทุเรียน

รวมถึง “ธ.ก.ส.” ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดตลาดกลางสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน  afarmmart  ที่ล่าสุดกำลังเตรียมจัดโปรโมชั่นเทศกาลผลไม้

ขณะที่ในฝั่งภาคเอกชนก็มีหลายแห่งที่เปิดตัวเป็นตลาดกลางให้ประกาศขายสินค้าเกษตรได้ อาทิ greenspace.market   ซึ่งมีทั้งช่องทางผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก LINE มีผู้ติดตามอยู่กว่า 6 หมื่นคน


อัพเกรดขึ้นมาอีกนิดด้วยผลงานของ “สตาร์ตอัพ” แต่ยังมีรูปแบบของแพลตฟอร์มกลาง ได้แก่

“MeZ” มีแซ่ด  ที่ดึงเกษตรกรเข้าร่วมบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถกำหนดราคาผลไม้ได้ด้วยตัวเอง มุ่งเน้นกลุ่มผลไม้แบบอินทรีย์ และคงอัตลักษณ์จากท้องถิ่น โดยทีมงานของมีแซ่ดจะช่วยจัดการระบบที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อและการโฆษณาให้

แต่ถ้าเป็นสายปลอดสารพิษแล้ว ก็ต้อง “Earth Organic”   ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มชาวสวนผลไม้ออแกนิค 100% ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและจันทบุรี ซึ่งหนึ่งสมาชิกของกลุ่ม เป็นเจ้าของทุเรียนรายแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ส่งออกทุเรียนออร์แกนิคไปจำหน่ายที่ตลาดโอตะ ประเทศญี่ปุ่น

พร้อมขายตรงสู่ผู้บริโภคและธุรกิจ (B2B /B2C)


นอกจากจะขายตรงถึงมือผู้บริโภคแล้ว ยังมีแพลตฟอร์มที่ “ขายส่ง” ในปริมาณมากสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร อย่าง “Freshket” ที่ดำเนินการภายใต้แนวคิดการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อ (buyer) และผู้ผลิต (supplier) ในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย โดยเป้าหมายที่ต้องการให้ “ราคาสินค้าเกษตร” เกิดความเป็นธรรม เกษตรกรควรได้ราคาขายที่สมเหตุสมผล ไม่ถูกกดราคา ซึ่งตอนนี้ขยายให้บริการกับผู้บริโภคเป็นการทั่วไปถึง 30 ก.ย. นี้


เนเจอร์ ฟู้ด (Naturefood) แอปพลิเคชั่นสำหรับการซื้อขายข้าวอินทรีย์และสินค้าเกษตรปลอดภัย มีบริการส่งถึงบ้าน และให้บริการส่งออกทั่วโลกแบบ One Stop Service ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เพื่อช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตร รวมทั้งทำให้คนในสังคมมีสุขภาพดี

ระบบ “ร่วมผลิต” E-bidding

แต่ถ้าอยากใกล้ชิดเกษตรกรเข้าไปอีกนิด ต้อง ‘ฟาร์มโตะ’ (FARMTO) สตาร์ตอัพช่วยขายผลผลิตทางการเกษตรรูปแบบใหม่ แพลตฟอร์มเชื่อม “เกษตรกร-ผู้บริโภค” ในรูปแบบ “ร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตร” เพื่อให้ทั้งคู่ได้ช่วยเหลือและดูแลผลผลิตไปด้วยกัน ผู้บริโภคสามารถจับจองสินค้าจากฟาร์มของเกษตรกรผ่านแพลตฟอร์ม และหากผู้บริโภคต้องการใกล้ชิดกับผลผลิต ก็สามารถเดินทางเยี่ยมชม ผ่านการเช็คพิกัดพื้นที่การเพาะปลูกได้จากในแพลตฟอร์ม

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ทางเกษตรกรก็จะจัดส่งผลผลิตไปให้ผู้บริโภคทันที ทั้งหมดอยู่ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเพาะปลูกระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค จะทำให้ผลผลิตมีคุณค่า เพราะไม่ใช่แค่รสชาติของผลผลิตที่อร่อยหรือสดใหม่ แต่คือมิตรภาพจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภค

และก้าวไปอีกขั้นกับระบบประกวดราคาผลผลิตทางการเกษตร (e-bidding Platform for Agriculture)

“ครอปเปอร์แซด” (cropperz) ที่ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึง “ข้อมูลความต้องการของตลาด” และช่วยยกระดับภาคธุรกิจให้สามารถพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพ ควบคุมราคา และปริมาณได้ตรงตามความต้องการของตลาด ข้อมูลต่างๆ บนแพลตฟอร์มนี้จะช่วยสนับสนุนการสร้างตลาดกับกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปที่ต้องการวัตถุดิบเข้าสู่สายงานการผลิต ซึ่งจะทำให้ทั้งทางฝั่งเกษตรกร และทางฝั่งผู้ประกอบการมีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง

มาร่วมกันอุดหนุนเกษตรกรไทยกันเถอะ!