EIC แนะภาครัฐเพิ่มมาตรการสนับสนุนเข้าถึง “อินเทอร์เน็ต” บรรเทาพิษโควิด

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้ “อินเทอร์เน็ต” ไม่ว่าจะเป็นบนโครงข่ายมือถือหรือไฟเบอร์มีความสำคัญยิ่ง

“ดร. กมลมาลย์ แจ้งล้อม” นักวิเคราะห์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน  ระบุว่า แม้ภาครัฐจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในด้านการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ทันต่อสถานการณ์ แต่อาจต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่

1.การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ wi-fi สาธารณะ ในสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ รัฐบาลได้เปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่ชุมชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ประชาชนทุกคนซึ่งรวมถึงผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต

2.การผ่อนผันการชำระค่าบริการอินเทอร์เน็ตแก่ธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ดังเช่นในอิตาลี สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ รัฐบาลได้ยืดเวลาการชำระค่าบริการได้ โดยไม่ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกับค่าบริการด้านสาธารณูปโภคอื่น ๆ

3.การรวบรวมบริการสื่อออนไลน์ รัฐบาลอิตาลีร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศเปิด website กลางภายใต้ชื่อ “Digital solidarity” รวบรวมสื่อออนไลน์ เช่น หนังสือพิมพ์ในรูปแบบออนไลน์ และแพลตฟอร์มสื่อการเรียนการสอน (e-learning platform) เช่นเดียวกับจีน รัฐบาลขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์กว่าร้อยรายเปิดห้องเรียนออนไลน์เพื่อให้ประชาชนได้เรียนหนังสือผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิก

โดยจากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) และกระทรวงศึกษาธิการ EIC ประเมินว่า การประกาศเว้นระยะห่างทางสังคม และการให้ทำงาน-เรียนจากที่บ้าน ส่งผลให้มีประชาชนไทยที่ต้องอยู่บ้านในช่วงกลางวันของวันธรรมดาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน 

และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของดาต้าทราฟฟิกบนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เปลี่ยนไป ได้แก่ 1.การใช้อินเทอร์เน็ตกระจายตัวในเขตที่พักอาศัยมากขึ้น 2.การใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เปลี่ยนจากช่วงเย็นหลังเลิกงานเป็นช่วงกลางวัน และ 3.ปริมาณการใช้งานโมบายดาต้าเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน (MoM)  ส่วนอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) เพิ่มขึ้นราว 20%  MoM

“ mobile broadband เพิ่มขึ้นกว่า 17% MoM จาก 12 GB/เลขหมาย/เดือน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็น 14 GB/เลขหมาย/เดือน ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าอัตราการการเติบโตของการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อเดือนในช่วงปี 2562 ที่อยู่ราว 7% MoM ”

ทั้งการใช้งานออนไลน์ เช่น การประชุมออนไลน์ แพลตฟอร์มเพื่อการบันเทิง รวมถึงการให้บริการออนไลน์ เช่น internet banking, food delivery ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มสร้างพฤติกรรมใหม่ของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต รวมไปถึงการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารที่มากขึ้นขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระตุ้นให้ไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

“ผลสำรวจของ Ookla ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก พบว่า หลังจากที่จีนประกาศปิดมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 การใช้งานแอปพลิเคชั่นการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นราว 58% ส่งผลให้ผู้ให้บริการอินเทอร์ของจีนต้องขยายขีดความสามารถการรับส่งสัญญาณและเร่งขยายโครงข่าย 5G”

การปรับตัวยอมรับการใช้แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มในช่วงวิกฤตโควิด มีผลต่อวิถีการใช้ชีวิตของคนจำนวนมากและมีแนวโน้มสร้างพฤติกรรมใหม่แบบถาวรของคนไทยที่จะใช้เวลากับกิจกรรมบนโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้ง mobile broadband และ fixed broadband อาจจะต้องปรับเปลี่ยนการให้บริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมใหม่นี้ เช่น การนำเสนอแพ็กเกจแบบผสมผสานที่ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงควบคู่กับแอปพลิเคชันที่จำเป็นสำหรับการทำงานและการเรียนออนไลน์ รวมถึงการขยายและพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในเขตแหล่งที่พักอาศัยให้ครอบคลุมมากขึ้น

“ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตควรมีการยกระดับการให้บริการสู่การเป็นดิจิทัลโซลูชัน เช่น การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ควบคู่กับพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ทุกการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบครบวงจร เอื้อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มศักยภาพ”