“จีเอเบิล-หัวเว่ย”ดันสจล.ขึ้นแท่นมหาลัยดิจิทัล

“สจล.” ตั้งเป้าขึ้นแท่นมหาวิทยาลัยดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย จับมือจีเอเบิล-หัวเว่ย อัพสปีดเน็ต 100 จิกะบิต-ไวไฟ 3,000 จุด ทั้งดึงมหาวิทยาลัยดัง”คาร์เนกีเมลลอน” พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องการปรับตัวตามวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 จึงร่วมกับจีเอเบิลและหัวเว่ยจัดทำโครงการระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์กที่ดีที่สุด เร็วที่สุดในสถาบันอุดมศึกษานำร่องติดตั้งเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วระดับ 100 จิกะบิต เร็วกว่าเดิม 10 เท่า พร้อมเครือข่ายไวไฟ 3,000 จุดทั่วสถาบันและใช้ SDN (Software-defined network) ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เชื่อมโยงทุกเครือข่ายในมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งเดียว

และพัฒนา Data Center ให้เป็นเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า แต่ทำงานได้เร็วกว่า 5 เท่า แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ โดยปีแรกมีโครงข่ายความเร็วสูงครอบคลุมทั่วมหาวิทยาลัย รองรับข้อมูลขนาดใหญ่ได้ ระยะที่ 2 เพิ่มพื้นที่ให้ครอบคลุมที่สุด รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ และระยะที่ 3 ครอบคลุมกว่า 150 ตึก ในพื้นที่กว่าพันไร่

ขณะเดียวกัน สจล.ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ด้านคอมพิวเตอร์ ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอีกด้วย

“เรามีเป้าหมายที่จะเป็น Digital University ภายในปี 2563 ทำให้ สจล.เป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศที่มีระบบ SDN ที่สมบูรณ์แบบ ระบบนี้จะช่วยให้นักศึกษาเรียนออนไลน์ได้ การมีหลักสูตรออนไลน์ช่วยให้คนเข้าถึงการเรียนได้ง่าย และเข้าถึงข้อมูลในต่างประเทศได้รวดเร็ว จะเริ่มที่คณะแพทยศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมฯเป็นต้น”

ด้านนายสุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า เทคโนโลยีดิสรัปชั่นมาถึงภาคการศึกษาด้วยเช่นกัน หากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านทำได้เร็วขึ้น แต่ถ้าใช้ระบบเดิมจะได้ประสิทธิภาพน้อยด้วยต้นทุนที่แพง โดยบริษัทจะเป็นผู้ติดตั้งระบบทุกอย่างให้ สจล. มีหัวเว่ยซัพพอร์ตเทคโนโลยี

นายจาง หลิน (เอิร์นเนส) ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การจะเกิดไทยแลนด์ 4.0 ได้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน ซึ่งภาคการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยพัฒนาบุคลากรให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยหัวเว่ยสนับสนุนเทคโนโลยีระดับโลกที่ดีที่สุด