การปรับตัวของธุรกิจ ร้านอาหารหลังโควิด

ภาพประกอบเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา : Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมเชื่อว่าต่อจากนี้ไป เมื่อเปิดเมืองแล้วทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม พฤติกรรมของคนก็จะไม่เหมือนเดิม ธุรกิจจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบเพื่อรองรับกับพฤติกรรมของคนที่เริ่มชินกับสิ่งใหม่

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งทำร้านอาหารญี่ปุ่น เขาเริ่มปรับตัวเองจากเหตุการณ์โควิดนี้ จากเดิมที่เวลาไปกินจะมีเชฟมาปรุงอาหารให้ แต่เมื่อร้านอาหารต้องปิด เชฟหลายคนต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเองเช่นกัน เช่น เปลี่ยนเป็นไปปรุงอาหารให้กินถึงบ้าน และตอนนี้เริ่มมีการปรุงให้แบบสำเร็จบรรจุใส่กล่องสวยงามส่งถึงหน้าบ้านเลย

ผมเองก็อุดหนุนเขาเช่นกันแต่เมื่อถามว่ารูดบัตรเครดิตจ่ายได้ไหมปรากฏว่าทางร้านตอบว่าไม่ได้ ต้องเงินสดเท่านั้น ผมจึงแนะนำเครื่องมือในการชำระเงินให้ไปหลายตัว

ตอนนี้ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ยังไม่ได้ปรับตัวและไม่ได้นำเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้ หรือปรับตัวแค่เข้ามาขายออนไลน์ แต่กระบวนการอื่น ๆ เช่น การเก็บเงินหรือการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ยังไม่ได้ปรับแบบทั้งระบบ

มีเรื่องที่อยากเล่าเกี่ยวกับตัวช่วยสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีโอกาสไปช่วย

ทีมงานกลุ่มหนึ่งทำแพลตฟอร์ม ชื่อว่า Hiw เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการเข้ามาค้าขายอาหารได้โดยไม่โดนเก็บค่า GP (gross profit) หรือค่าคอมมิสชั่นที่ปกติจะเก็บกัน 30%

ช่วงที่ผ่านมา ผมเองสังเกตเห็นว่ามีคนมาทำแพลตฟอร์มเกี่ยวกับ food delivery กันมากขึ้น บางคนมีการเก็บค่า GP 5-6% บ้าง ทุกคนเริ่มมาทำเพราะเห็นปัญหาว่าแพลตฟอร์มแบบนี้ ในบ้านเรามีแต่ของต่างชาติทั้งนั้น

ผมอยากบอกว่าการทำแพลตฟอร์มไม่ยาก แต่คำถามคือคุณจะอยู่ตรงไหน แพลตฟอร์มที่ทำมาจะมีคนใช้หรือไม่ แล้วจะไปสู้กับเบอร์ใหญ่ ๆ ได้อย่างไรในเมื่อการลงทุนมันต่างกันมาก

อารมณ์ที่เห็นคนทำแพลตฟอร์มส่งอาหารกันเยอะ ๆ แบบนี้เหมือนย้อนไป 7 ปีก่อน ที่มีเว็บขายดีล เช่น Groupon, Ensogo ฯลฯ ตอนนั้น เมืองไทยมีเว็บขายดีลเยอะมากถึง 60-70 เว็บเลย เหมือนตอนนี้ที่ใคร ๆ ก็หันมาเปิดเว็บทำร้านอาหารออนไลน์

ผมอยากฝากว่าต้องดูให้ดี ไม่ใช่ว่าน่าสนใจแล้วเฮตามกันไป ไม่ใช่ว่าเห็นโอกาสแล้วกระโดดลงไปทำกันหมดเพราะหากคุณกระโดดลงไปทำตอนนี้ การแข่งขันสูงมากเลยทีเดียวตอนนี้เครื่องมือตัวช่วยต่าง ๆ เริ่มมีเยอะขึ้น ถ้าจะเลือกเครื่องมือตัวไหนต้องดูให้ดีก่อนว่าเขาเป็นใคร โอกาสการเติบโตเป็นอย่างไรบ้าง จะรอดไหม หากไปเลือกเครื่องมือที่เป็นรายย่อยเล็กมาก ทำไปเดือนสองเดือนแล้วอยู่ไม่ได้ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากทีเดียว

สำหรับแพลตฟอร์ม Hiw ที่ผมเข้าไปช่วยเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เจ้าของธุรกิจที่มีร้านอาหารเข้าไปสร้างหน้าร้านออนไลน์ของตัวเองได้ จุดแตกต่างของ Hiw ที่ต่างจากแพลตฟอร์มอื่น คือ เมื่อคุณเข้ามาเปิดแพลตฟอร์มแล้วจะเป็นเว็บของคุณเองหรือเหมือนมีหน้าร้านของคุณเอง บริหารตัวเองได้เลย ไม่ต้องไปพึ่งใคร อย่างการไปขายในแกร็บ ไลน์แมน เก็ท ฯลฯ ข้อมูลต่าง ๆ ของเราจะไปอยู่ที่เขาหมด หากเขาปิดหรือเปิดเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย

แต่โมเดลของ Hiw เป็นการสร้างหน้าร้านอาหารออนไลน์ของคุณเองโดยตรง มีชื่อโดเมนของคุณเอง มีระบบชำระเงินของตัวเอง ระบบจะแยกออกมาเป็นของทุกคน ฉะนั้น คุณสามารถบริหารจัดการของคุณเองได้ทั้งหมด

นี่เป็นการรวมตัวของหลายคนที่อยากเข้ามาช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารในตอนนี้ น่าจะใกล้เปิดตัวแล้วครับ แต่ช่วงแรกอาจเปิดให้กลุ่มเล็ก ๆ ก่อน ในช่วงเริ่มต้นนี้มีร้านค้าอยู่ในระบบ 30-40 ร้านค้ากำลังทดสอบในวงปิด แต่ใกล้จะเปิดให้คนอื่น ๆ เข้ามาในระบบและสมัครใช้บริการได้แล้วครับ