Anti-Fake News ศูนย์ปฏิบัติการ 98 ล้าน

การสกัดกั้นข่าวปลอม ถือเป็นนโยบายหลักที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้ความสำคัญยิ่งในยุคที่ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” นั่งเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ถึงขั้นตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center Thailand ขึ้นมาที่ชั้น 8 อาคาร 20 บมจ.ทีโอที สำนักงานใหญ่ โดยเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 พ.ย. 2562

และในปีงบประมาณ 2563 เพิ่งประกาศราคากลางเพื่อจัดจ้างโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม Anti-Fake News Center ภายใต้งบประมาณ 93.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่กระทรวงจะใช้งบประมาณสำหรับการเฝ้าระวังเว็บไซต์ไม่เหมาะสมราว 10 ล้านบาทต่อปี

ทั้งก่อนหน้านี้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ยังได้เดินทางมามอบนโยบายที่ศูนย์ Anti-FakeNews ด้วยตัวเอง พร้อมย้ำว่าเป็นกลไกสำคัญยิ่งในสถานการณ์นี้

ยืนยัน “การเมือง” ไม่ตรวจสอบ

“นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต” ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานตรวจสอบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center Thailand พบว่า จากการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. -7 พ.ค. 2563 มีจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3,206,633 ข้อความ โดยหลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินการ 3,212 ข้อความ โดยแบ่งได้ทั้งหมด 1,031 เรื่อง ข่าวที่เกี่ยวกับกระแสของโควิด-19 ที่ดำเนินการเผยแพร่ทั้งหมด 267 เรื่อง สัดส่วนการเผยแพร่ข่าวปลอม : ข่าวจริง : ข่าวบิดเบือน เป็น 7 : 1 : 2

“ตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์ ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสาธารณสุข ยกตัวอย่าง ข่าวน้ำมะนาว น้ำสับปะรดรักษามะเร็ง น้ำที่กินแล้วขาว เป็นต้น แต่ทางศูนย์จะต้องให้ความสำคัญกับทุกข่าวอย่างเท่า ๆ กัน โดยเฉพาะข่าวที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล อาทิ การขึ้นค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ข่าวที่ศูนย์ไม่ตรวจสอบ จะเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับดารา การเมือง ที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล”

เปิดกระบวนการคัดกรอง

ขณะที่วิธีการทำงานของศูนย์ จะเริ่มต้นเมื่อประชาชนแจ้งข้อมูลเข้ามาให้ตรวจสอบข้อมูลจะเข้า criteria ตรวจสอบ และแยกตามประเภทหมวดหมู่ข่าว แบ่งเป็นกลุ่มข่าวภัยพิบัติ กลุ่มข่าวเศรษฐกิจ กลุ่มข่าวผลิตภัณฑ์และสุขภาพ และกลุ่มข่าวนโยบายรัฐและความสงบเรียบร้อยภายใน และแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง และแจ้งผลกลับมาที่ศูนย์

จากนั้นศูนย์ก็จะแจ้งผลการตรวจสอบไปที่ช่องทาง official หลัก เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบให้ประชาชนทราบ และสามารถเข้ามาตรวจค้นข้อเท็จจริงได้

สำหรับ “ทีมงาน” ของศูนย์ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่จะผ่านการคัดเลือกด้านความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความรู้ในด้านเทคโนโลยี, การสืบค้นข้อมูล, การทำกราฟิก เพื่อมาทำอินโฟกราฟิกอย่างง่ายให้เข้าใจ, copy writer เพื่อมาจัดทำข้อมูลข่าวสาร และการบริหารจัดการ ซึ่งบางส่วนใช้วิธีการ outsource

“ในส่วนของไอทีซีเคียวริตี้ ได้คนจาก บมจ.ทีโอทีเข้ามาช่วย เพราะจะมีความรู้เรื่องความปลอดภัย ความมั่นคง และการโจมตีทางไซเบอร์ ส่วนของค่าใช้จ่ายและงบประมาณทั้งหมด ตอนนี้เป็นงบฯของทีโอทีที่เข้ามาช่วยสนับสนุน”

บริหารความขัดแย้ง

สำหรับปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ผอ.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระบุว่า คือ การบริหารความขัดแย้ง และป้องกันไม่ให้การตรวจสอบข่าวเกิดความผิดพลาด จะต้องมีความระมัดระวังในทุกขั้นตอนมากขึ้น เพื่อให้ศูนย์เป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบข่าวปลอม

“การเผยแพร่ข้อมูล จำเป็นต้องมีพันธมิตรให้ความร่วมมือ ซึ่งก็ต้องบริหารความขัดแย้งให้ดีด้วย เพราะเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวออกไป ก็แน่นอนว่าจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ และมีอีกฝ่ายที่เสียประโยชน์ อีกทั้งในการทำงานของศูนย์ มี KPI ตัวชี้วัดไว้ว่า ต้องตรวจสอบให้เสร็จภายใน 6 ชั่วโมง ฉะนั้น 2 ชั่วโมงแรก ศูนย์ต้องรับเรื่องให้เสร็จ เพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้น ๆ ตรวจสอบอีก 2 ชั่วโมง และตอบกลับมา ซึ่งโดยรวมจะใช้เวลาทั้งหมดที่ 4 ชั่วโมงต่อ 1 ข่าว”

ส่วนอนาคตต่อไปของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมนั้น นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า น่าจะมีการจัดตั้งให้เป็นศูนย์ถาวร ที่มีการแจกแจงภารกิจให้เหมาะสม อาทิ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางศูนย์ได้รับมอบหมายภารกิจในด้านการสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย

“การตั้งเป็นศูนย์ถาวร น่าจะไม่มีปัญหา ก็จะต้องมาดูในเรื่องของข้อกฎหมาย แต่เรื่องของภารกิจต่อไปก็ต้องไปดูว่าศูนย์จะต้องไปอยู่กับกรมหรือกองอะไร ที่จะสามารถตั้งงบประมาณในการดำเนินงานต่อเนื่องได้ มีความชัดเจนเรื่องอัตรากำลังและตำแหน่งต่าง ๆ ที่ชัดเจน”

ส่วนการที่ยังมีประชาชนจำนวนมากมองว่า ศูนย์ทำหน้าที่ “โฆษณาชวนเชื่อ” หรือ propaganda ให้กับรัฐบาลนั้น เป็นเพราะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องกระบวนการต่อต้านข่าวปลอมและการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ the international fact-checking network เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย


“ก็จะพยายามแจ้งให้ประชาชนได้รับรู้ว่าแท้จริงแล้วทางศูนย์เป็นอย่างไร เพื่อให้มีความเชื่อมั่นในการทำงาน”