มหาวิกฤตเศรษฐกิจ กว่าจะเข้าสู่ “New Normal”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งอาเซียนกำลังดิ่งเหว แต่อีกนานไหมที่จะก้าวสู่ “new normal” ที่หลายฝ่ายคาดการณ์กัน

“ดร.สันติธาร เสถียรไทย” ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea (Group) เปิดเผยบนเวที Techsauce : live special edition ระบุว่า

สถานการณ์นี้ถือเป็น “มหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ” GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 1/2563 ของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกได้ว่า ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ไตรมาส 1 เป็นแค่จุดต่ำสุดของจีน แต่ยังไม่ใช่ของอาเซียนที่ยัง “ล็อกดาวน์” อยู่ ฉะนั้น ไตรมาส 2 จะยิ่งทวีความน่ากลัวขึ้นไปอีก ภายใต้ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) การควบคุมการระบาดของไวรัส 2) ลักษณะของเศรษฐกิจพึ่งพาอุตสาหกรรมไหน อย่างไร และ 3) นโยบายที่เข้ามาช่วยเหลือนโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างไร

“ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ ในช่วงแรกเหมือนควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสไว้ได้ แต่เพราะเศรษฐกิจพึ่งพาส่งออกเยอะมาก เมื่อเศรษฐกิจโลกตกต่ำจึงโดนกระทบหนัก มาเลเซียก็เช่นกัน พึ่งพาการส่งออกโดยเฉพาะน้ำมัน เมื่อราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าติดลบ จึงกระทบหนัก ฟิลิปปินส์ แม้จะล็อกดาวน์ แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีมาก ทำให้โลจิสติกส์มีปัญหา ส่วนอินโดนีเซีย เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่รีแอกต์ช้า บวกกับมาตรการทางการคลังมีจำกัด ค่าเงิน ผันผวนง่าย เศรษฐกิจจึงถูกกระทบเยอะ”

สำหรับประเทศไทย มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในอาเซียน แต่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากกว่า 10% ของ GDP ซึ่งชัดเจนว่าจะเป็นเซ็กเตอร์สุดท้ายที่เปิดตัวอย่างจริงจัง ทั้งภาคการเกษตรก็กระทบจากภัยแล้ง ไวรัสจึงไม่ใช่คลื่นลูกเดียวที่ประเทศไทยต้องเจอ

ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจึงจะไม่ได้ฟื้นตัวในช่วงเวลาเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าภาคธุรกิจที่ใกล้ชิดกับลูกค้าในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นสายบันเทิง หรือสายท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเยอะ

แต่ที่ได้ประโยชน์คือ “2H” ได้แก่ “health care” และ “home” หรือ from home economy เศรษฐกิจคนติดบ้าน โดยแบ่งเป็นกลุ่ม application และ enterprise เพื่อให้คนทำงานที่บ้านได้ และบริษัทที่เปลี่ยนให้คนมาทำงานที่บ้านได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงคลาวด์ เอไอ ที่ทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ กับกลุ่ม entertainment และ digital content ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค อย่างหนังซีรีส์ เกม อีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนต์ ที่ได้อานิสงส์จากการควบคุมการแพร่ระบาด

ส่วนการก้าวเข้าสู่ “new normal” จะมี 3 เฟส เฟสแรกที่ผ่านมาแล้ว เรียกว่า “abnormal” เป็นความแปลกใหม่ที่แท้จริง และเป็นวิกฤตที่ไม่เคยเจอมาก่อนด้วย สาธารณสุขเป็นประเด็นอันดับหนึ่ง หลายบริษัทจะคิดเรื่อง “การอยู่รอด” ด้วยการลดต้นทุน ในส่วนที่ไม่จำเป็น อุ้มคนที่มีความสำคัญเอาไว้

ปัจจุบันกำลังจะเปลี่ยนสู่เฟส 2 คือ “new abnormal” จะเริ่มคิดเรื่อง “การอยู่เป็น” แต่อย่ารีบเร่งไปทุ่มอะไรมากมาย เพราะยังมีการ “เปิด-ปิดเมือง” มีความไม่แน่นอนสูง เป็นช่วงแห่งการทดลอง

“หลายประเทศในอาเซียนก็เริ่มเปิดเมืองทีละนิด แต่อาจจะยังเปิดไม่เต็มที่ ทั้งนี้จะเข้าสู่สภาวะปกติและเป็นโลกหลังไวรัส ก็ต่อเมื่อเรามีวัคซีนแล้ว new normal ถึงจะเกิดขึ้น เป็นเฟสที่ถือเป็น “การอยู่ยืน” อย่างแท้จริง”

ในแง่ธุรกิจของ Sea Group ที่มี 3 ธุรกิจสำคัญอย่าง “ช้อปปี้” อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม “การีน่า” แพลตฟอร์มเกมออนไลน์ “แอร์เพย์” ระบบอีวอลเลตที่เป็นฟินเทค

“ก่อนนี้ ดิจิทัลจะมีก็ดี ไม่มีก็ไม่ตาย เหมือนอาหารเสริม แต่ตอนนี้ขาดไม่ได้เหมือนน้ำ ในส่วนของการีน่า กำลังดูว่าจะสามารถเข้ามาช่วยเศรษฐกิจให้เดินหน้า และช่วยเรื่องมาตรการหยุดเชื้อเพื่อชาติด้วย ล่าสุด ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯจัดแข่ง e-Sport โครงการแบกหมอสู้โควิด สนับสนุนให้เล่นเกมอยู่บ้าน และเป็นการระดมทุนบริจาคให้กับสภากาชาดไทย นำไปช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ไปพร้อมกัน รวมถึงใช้อินฟลูเอนเซอร์มาช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด”

ส่วน “ช้อปปี้” ในเฟสแรกเป็นการช่วยเหลือให้ผู้คนเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันไวรัส ไม่ว่าจะเป็นเจลล้างมือหรือหน้ากากอนามัย และช่วยบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการระดมทุนช้อปปี้และแอร์เพย์


“ตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่เฟสใหม่แล้ว ปัญหาเศรษฐกิจเริ่มจะมีความรุนแรงไม่แพ้ปัญหาสาธารณสุข ผู้คนเริ่มกลัวความอดอยากปากท้องไม่แพ้กับกลัวไวรัส ช้อปปี้จึงจะมีบทบาทในการเป็นช่องทางให้ SMEs”