กฎหมาย Hate Speech ระเบิดลูกใหม่โซเชียลมีเดีย

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ตั้งแต่ มี.ค. ความสนใจทั้งหมดของรัฐบาล ส.ส. ฝรั่งเศสล้วนพุ่งไปที่การปราบไวรัสโควิด กฎหมายที่ออกมาจึงล้วนเกี่ยวกับการเยียวยาหรือควบคุมการระบาด

แต่แล้ววันพฤหัสฯที่ผ่านมาก็เกิดปรากฏการณ์พิเศษ เมื่อ ส.ส.ส่วนใหญ่พากันยกมือผ่านร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ถือเป็น กม.ฉบับแรกในรอบไม่กี่เดือนที่ไม่เกี่ยวกับโควิด การโดดเด้งออกมาได้ในนาทีนี้จึงแสดงถึงความสำคัญต่อผู้มีอำนาจในประเทศได้อย่างดี

กฎหมายฉบับนั้นคือ การควบคุม “hate speech” หรือ “ประทุษวาจา” อันได้แก่ ถ้อยคำโจมตีบุคคล-กลุ่มบุคคลด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือรสนิยมทางเพศ บนสื่อโซเชียล

เหตุที่สามารถแซงปาดหน้า กม.ตัวอื่นได้ เพราะประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศจุดยืนต่อต้าน “hate speech” มาแต่ต้น

แม้ EU ที่กำลังร่าง กม. Digital Services Act ซึ่งจะมีผลบังคับกับประเทศสมาชิกทั้งหมดจะขอให้ฝรั่งเศสอดใจรออีกสักหน่อย แต่มาครงกลับยิ่งเร่งสปีดผลักดัน กม.ฉบับนี้ จนสำเร็จ

กม.นี้ถือว่าเป็นระเบิดลูกล่าสุดสำหรับสตาร์ตอัพเจ้าของโซเชียลมีเดีย หลังซวนเซเสียกระบวนกับ กม. การรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค

กม.ฉบับล่าสุด ให้แพลตฟอร์มต้องลบโพสต์หรือคอนเทนต์ที่เข้าข่ายว่าเป็น hate speech ภายใน 24 ชม. และยิ่งหากเข้าข่าย “ก่อการร้าย” หรือสื่อลามกเด็ก ยิ่งต้องรีบลบให้ภายใน 1 ชม. หลังได้รับแจ้ง มิฉะนั้นมีิโทษปรับสูงถึง 1.36 ล้านเหรียญ

หลายคนฟังแล้วอาจคิดว่าเงินแค่นี้จิ๊บ ๆ โดยเฉพาะกับยักษ์ใหญ่รายได้ปีละหลายหมื่นล้านอย่าง Facebook แต่อย่าลืมว่าแต่ละวันมีคนโพสต์คอนเทนต์ขึ้นเฟซบุ๊กจำนวนเท่าไร ถ้าแค่ 1% เข้าข่ายละเมิด ก็คิดเป็นเงินค่าปรับมหาศาลแล้ว นี่ยังไม่รวมความเสียหายด้านชื่อเสียงที่ถูกโจมตีว่าเป็นช่องทางที่สร้างให้เกิดความเกลียดชัง

นอกจากฝรั่งเศสแล้ว ประเทศอื่นก็เริ่มมีมาตรการใกล้เคียงกัน เช่น เยอรมนีผ่าน กม. ชื่อว่า Network Enforcement Act เมื่อ 2 ปีก่อน กำหนดให้โซเชียลมีเดียต้องลบเนื้อหาที่เข้าข่าย hate speech หรือ fake news ภายใน 24 ชม. หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงถึง 60 ล้านเหรียญ อาทิตย์ที่แล้ว Facebook ก็เพิ่งโดน กม.นี้เล่นงานฐานแจ้งตัวเลขการร้องเรียนน้อยกว่าความเป็นจริง โดนปรับไป 2 ล้านยูโร (Facebook ขอใช้สิทธิอุทธรณ์) หรืออินเดียก็มีกฎที่ให้อำนาจรัฐบาลสั่งแพลตฟอร์มถอนเนื้อหาได้เช่นกัน

การที่หลายประเทศแสดงความวิตกเพราะเหตุการณ์รุนแรงจาก “hate speech” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการต่อต้านผู้ลี้ภัยในเยอรมนี การกราดยิงในโบสถ์คนผิวดำกลางเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์ แคโรไลนา จนมีผู้เสียชีวิต 9 ราย

การสังหารหมู่ชาวมุสลิมในมัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ชของนิวซีแลนด์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 49 คน รวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในพม่า ล้วนเป็น hate crime หรืออาชญากรรมอันเกิดจากความเกลียดชังโดยผู้ก่อเหตุเป็นทั้งผู้เสพสื่อออนไลน์ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติและผู้ใช้สื่อในการเผยแพร่ เช่น มือสังหารในไครสต์เชิร์ชไลฟ์การฆ่าผ่าน YouTube

ถึงเจ้าของแพลตฟอร์มจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ้างพนักงานมาสกรีนเนื้อหาเหล่านี้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากเพราะคอนเทนต์มีมหาศาล อีกทั้งระบบอัลกอริทึ่มก็ถูกดีไซน์ให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน “เข้าถึง” ข้อมูลที่ตนสนใจ กลายเป็นเครื่องมือช่วยขยายการรับรู้และกระจายเนื้อหาให้ตรง “กลุ่มเป้าหมาย” เข้าไปอีก

แต่ความพยายามของภาครัฐในการเข้ามา “ควบคุม” หรือ “เซ็นเซอร์” เนื้อหาบนสื่อโซเชียลก็มิใช่จะสะดวกโยธินเพราะมีการตั้งคำถามว่าจะเป็นการเอื้อให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบหรือไม่ โดยกลุ่มเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกมองว่า กม.จำพวกนี้ให้อำนาจรัฐในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน คนกลุ่มน้อย ตลอดจนกีดกันการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิทางสังคมด้านอื่น ๆ

การเคลื่อนไหวในสภาฝรั่งเศสเพื่อผลักดัน กม.ฉบับล่าสุดจึงไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อสตาร์ตอัพเจ้าของแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ยังเป็นเค้าลางของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลก ปัญหาคือ ประเทศที่มีระบบตรวจสอบอำนาจรัฐอ่อนแอ การกระชับอำนาจผ่านกฎหมายลักษณะนี้โดยอ้างว่าทำตามอย่างประเทศที่เจริญแล้วจะยิ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยอยู่แล้วหรือไม่ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะตามมายังคงเป็นคำถามที่ปราศจากคำตอบอยู่นั่นเอง