เจาะผลประกอบการ Q1/63 เทียบฟอร์ม 3 ค่ายมือถือฝ่าโควิด-19

ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ครบหมดแล้วทั้ง 3 ค่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ ทั้ง เอไอเอส กลุ่มทรู และดีแทค

โดยทุกรายต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กันทั่วหน้า ที่ชัดเจนเหมือนกันทั้ง 3 ราย คือ รายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวหายไป ไม่ว่าจะเป็นการขายซิมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้งานในประเทศไทย และรายได้จากการโรมมิ่งที่ผู้ใช้บริการในไทยนำมือถือไปใช้ในต่างประเทศ

รวมถึงผลกระทบจากการเริ่มมาตรการปิดศูนย์การค้า ทำให้ช้อปของแต่ละค่ายมือถือต้องปิดตามไปด้วย ช่องทางจำหน่ายจึงลดลง  ส่งผลให้ทั้ง 3 ค่ายมือถือ มียอดลูกค้า “ลดลง” ทุกราย

โดย “เอไอเอส” มีลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมอยู่ที่ 41.15 ล้านราย ลดลงจากไตรมาสก่อน 8.5 แสนราย และหากเทียบ YoY จะมีลูกค้าลดลง 3.4 แสนราย

มีรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 30,334 ล้านบาท ลดลง 1.1% เทียบกับปีก่อน (YoY) และลดลง 4.5% เทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) ขณะที่รายได้การขายเครื่องมือถือและซิม อยู่ที่ 6,465 ล้านบาท ลดลง 11% YoY และ 40% QoQ จากการมาตรการปิดเมืองซึ่งกระทบช่องทางจัดจำหน่าย

ส่งผลให้ไตรมาสนี้ เอไอเอส มีรายได้รวม 42,845 ล้านบาท ลดลง 1% YoY กำไรสุทธิ 7,004 ล้านบาท ลดลง 7.5% YoY

ขณะที่ กลุ่มทรู ก็มีจำนวนลูกค้า “ทรูมูฟ เอช”  ลดลง 3 แสนรายเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทำให้มีลูกค้ารวม 30.3 ล้านราย และมีมาร์เก็ตแชร์ในด้านรายได้จากการบริการ 30.6%

แต่ยังเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่ถ้าเทียบ YoY แล้วจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนราย และก็ยังคงเป็นเจ้าเดียวเช่นกันที่  “ขาดทุนสุทธิ” ในไตรมาสนี้ที่ 161 ล้านบาท ลดฮวบจากเมื่อไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 1,509 ล้านบาท

โดยระบุว่าได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปรับมาใช้มาตรฐานบัญชี (TFRS 16) หากไม่รวมผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีดังกล่าว ไตรมาสนี้กลุ่มทรูจะมีกำไร 48 ล้านบาท ส่วนกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท

ฟาก “ดีแทค” ในไตรมาสนี้มีลูกค้าลดลงมากกว่า 1 ล้านราย คงเหลือ 19.62 ล้านเลขหมาย และถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ยังมีจำนวนลูกค้าลดลง 1.08 ล้านราย

โดยระบุว่าเป็นผลกระทบจากโควิด-19 และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดบริการพรีเพด รวมถึงการลดลงของผู้ใช้บริการในระบบรายเดือนเนื่องมาจากการปรับปรุงวิธีการรายงาน

นอกจากนี้โควิด-19 ยังทำให้รายได้หลักลดลงจากไตรมาสก่อน 0.9% เหลือ 14,680 ล้านบาท (แต่ YoY เพิ่ม 4.8%) และทำให้รายได้บริการข้ามแดนอัตโนมัติลดลง 10.1% เทียบ QoQ และ 32.1% เทียบ YoY

รวมถึงรายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์และชุดเลขหมายที่ลดลงถึง 37.8 % เทียบ QoQ และ 20.8% เทียบ YoY จากการต้องปิดศูนย์บริการ

เบ็ดเสร็จแล้วในไตรมาสนี้ “ดีแทค” จึงมีรายได้รวม 20,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% (YoY) กำไรสุทธิ 1,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.7% (YoY)


แค่ไตรมาส 1 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เพิ่งเริ่มต้นระบาดในประเทศไทย ประกาศผลประกอบการยังบ่นอุบกันทุกค่าย ตัวเลขไตรมาส 2 ยิ่งท้าทายซีอีโอทั้ง 3 ค่าย ว่า ใครจะงัดกลยุทธ์มาประคองตัวได้ดีกว่ากันท่ามกลางวิกฤตโควิด-19