ไร้อำนาจยืดจ่ายค่าธรรมเนียม เอกชนลุ้น “กสทช.” เคาะมาตรการเยียวยา

โดนพิษโควิดเหมือนกัน! เลขาธิการ กสทช.ดันร่างประกาศยืดเวลาจ่ายไลเซนส์ช่วยผู้ประกอบการ “บรอดแคสต์-โทรคมนาคม” เสริมสภาพคล่อง ฟาก “อนุกรรมการ” ดับฝันชี้ชัดไร้กฎหมายรองรับ เสี่ยงกระทบงบประมาณรัฐบาล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมเสนอร่างประกาศเพื่อขยายเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมและผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.พิจารณาภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนด้วยการเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และให้ฟรีโมบายอินเทอร์เน็ต 10 GB รวมถึงโทร.ฟรี 100 นาที

“พยายามจะผลักดันออกเป็นประกาศกลาง เพื่อเปิดให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ใครจะยื่นขอยืดเวลาหรือไม่ก็แล้วแต่ โดยจะพยายามให้ทันสิ้นเดือนนี้ที่ครบกำหนดจ่ายเงินพอดี แต่ถ้าไม่ทันก็ไม่ต้องกังวลเพราะประกาศมีผลย้อนหลังได้”

โดยเบื้องต้นจะขยายเวลาการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลออกไปให้สอดคล้องกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะให้ผ่อนชำระเป็น 2 งวด งวดละ 50% เพราะจำนวนเงินค่าธรรมเนียมมีมูลค่าสูงกว่า

“โควิดกระทบทุกคน สิ่งที่ กสทช.พอจะช่วยได้คือเรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาต อย่างอื่นนอกจากนี้คงทำให้ไม่ได้”

อนุฯชี้ชัดไร้อำนาจ

ด้านแหล่งข่าวสำนักงาน กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เลขาธิการ กสทช.ทำหนังสือขอหารือกับคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงระเบียบการบริหารงานภายในของสำนักงาน กสทช.เกี่ยวกับการขยายเวลาการจ่ายค่าธรรมเนียม โดยครอบคลุมทั้งค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมที่ต้องชำระเป็นรายเดือน และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรวมถึงเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ค่า USO)

แต่ล่าสุดที่ประชุมคณะอนุกรรมการซึ่งมี ศ.พิเศษ ประสพสุข บุญเดช เป็นประธาน มีความเห็นว่า “ไม่สามารถทำได้” ตามกฎหมายและกฎที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้

“ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเห็นว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ กสทช.ในการเลื่อนหรือขยายเวลา แม้กระทั่งฐานอำนาจในการอนุญาตหรือผ่อนผันให้ผู้ประกอบการสามารถผ่อนชำระค่าธรรมเนียม จะไปเทียบเคียงกับกรณีที่กรมสรรพากรให้ขยายเวลาจ่ายภาษีไม่ได้ เพราะมีกฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีคลังไว้ชัดเจน”

นอกจากนี้ มาตรการที่เลขาธิการ กสทช.ผลักดัน ผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงคือกลุ่มผู้ประกอบการ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายไว้ ทั้งเงินก้อนใหญ่ที่จะต้องจ่ายนั้นเป็นค่าธรรมเนียมด้านโทรคมนาคม ซึ่งคำนวณจากรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีปี 2562 ไม่ใช่ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ที่สำคัญคือ เงินรายได้ค่าธรรมเนียมนี้เมื่อหักค่าใช้จ่ายของสำนักงาน กสทช.ออกไปแล้วจะต้องส่งเป็นเงินเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หากมีการเลื่อนเวลาการจ่ายเงิน อาจกระทบต่องบประมาณโดยรวมของรัฐบาลได้

ค่าไลเซนส์=รายได้หลัก

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมที่สำนักงาน กสทช.เรียกเก็บค่าผู้ประกอบการนั้น ถือรายรับหลักตามแผนงบประมาณประจำปีของ กสทช. โดยตามกฎหมายระบุว่า เมื่อเหลือแล้วจะต้องนำส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยค่าธรรมเนียมหลักที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะต้องจ่ายนั้นคือ ค่าธรรมเนียมเลขหมาย 1.5 บาทต่อเดือนเลขหมายสำหรับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 1 บาทต่อเดือนต่อเลขหมายสำหรับโทรศัพท์ประจำที่ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี ซึ่งจัดเก็บตามขั้นบันไดรายได้ตั้งแต่ 0.125% ถึง 1.5% ของรายได้ และเงินสมทบค่า USO 2.5% ของรายได้สุทธิ

ส่วนผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีตามขั้นบันไดรายได้ในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 0.125% ถึง 1.5% และเงินสมทบค่า USO ในอัตรา 0.125% ถึง 1.5% ตามเพดานรายได้