ชงบอร์ดยืดจ่ายค่าธรรมเนียม ‘ฐากร’มั่นใจมีอำนาจพยุงเงินสดเอกชน

อะไรก็ฉุดไม่อยู่! “ฐากร” ชงบอร์ด กสทช. 27 พ.ค.นี้ ออกประกาศขยายเวลาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการบรรเทาพิษโควิด-19 มั่นใจมีอำนาจ-ฐานะการเงินแน่นปึ้กชวดดอกเบี้ยแค่ 17 ล้าน แม้ถูกติงไร้กฎหมายรองรับ-เสี่ยงกระทบงบฯ รัฐบาล ฟากเอกชนร้องขาดสภาพคล่องหนักมาก วอน กสทช.ช่วยเหลือ

แหล่งข่าวภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เลขาธิการ กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ยังเดินหน้าหาทางออกประกาศขยายเวลาการชำระค่าธรรมเนียมให้กับผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าจะเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดวันที่ 27 พ.ค.นี้ อนุมัติการออกประกาศ กสทช.

ตีความออกประกาศรองรับได้

แม้ว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงระเบียบการบริหารงานภายในของสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จะมีมติว่า “ไม่สามารถทำได้” เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจ กสทช.ไว้ และอาจกระทบต่องบประมาณโดยรวมของรัฐบาลได้ เพราะเงินส่วนนี้เมื่อหักค่าใช้จ่ายของ กสทช.แล้ว
จะต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

“แต่เลขาธิการ กสทช.ตีความมติของคณะอนุฯว่า หากมีการออกประกาศ กสทช.ออกมารองรับก็จะมีอำนาจตามกฎหมายดำเนินการได้”

สะเทือนแค่ดอกเบี้ย 17 ล้าน

พร้อมเตรียมแจกแจงในที่ประชุมบอร์ดว่า การขยายเวลาให้จ่ายค่าธรรมเนียมที่ผู้รับใบอนุญาตทั้งฝั่งโทรคมนาคมและบรอดแคสต์จะต้องชำระระหว่างวันที่ 26 มี.ค. ถึง 31 พ.ค. 2563 โดยให้จ่าย ณ วันที่ครบกำหนด 50% และอีก 50% ให้จ่ายภายใน 67 วัน นับจากวันครบกำหนดชำระเดิม จะสอดคล้องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของภาครัฐ และไม่กระทบต่อการบริหารเงินรายรับ-รายจ่ายของสำนักงาน กสทช.
ส่วนการยืดเวลาจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ค่า USO) แม้ทางสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนาฯจะแจ้งกับทางสำนักงาน กสทช.ว่า จะทำให้ต้องเสียโอกาสได้ในการได้ดอกเบี้ยกว่า 17 ล้านบาท และมีความเสี่ยงหากเกิดการเบิกจ่ายเกินกรอบวงเงินที่กันไว้ ซึ่งจะทำให้ต้องถอนเงินฝากประจำก่อนครบกำหนด และไม่ได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากในแต่ละวงเงินราว 9-27 ล้านบาท ตามแต่งวดครบกำหนด

แต่ทางสำนักงานเสนอความเห็นต่อบอร์ดว่า เงินกองทุน มี 34,729 ล้านบาท และมีสำรองในบัญชีออมทรัพย์ 8,618 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตามแผนเบิกจ่ายในปีนี้

ทั้งเงิน USO ไม่ได้กระทบต่อการบริหารการเงินของสำนักงาน แต่กลับเป็นภาระรายจ่ายที่สำคัญของผู้ประกอบการ จึงควรให้ขยายเวลาจ่ายเงินออกไปเพื่อแบ่งเบาผลกระทบจากโควิดให้ผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

29 พ.ค. ก้อนใหญ่สุด

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมของ กสทช. แต่ละปีจะอยู่ที่ราว 8,500 ล้านบาท โดยในปี 2562 จะมาจากฝั่งบรอดแคสต์ 235 ล้านบาท และฝั่งผู้ประกอบการโทรคมนาคม 8,339 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมเลขหมายราวเดือนละ 261 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีซึ่งจะครบกำหนดจ่ายในวันที่ 29 พ.ค. ราว 4,800 ล้านบาท

และยังมีเงินสมทบเข้า USO อีกราวปีละ 7,500 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 29 พ.ค.นี้เช่นกัน
โดยค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี จะจัดเก็บตามขั้นบันไดรายได้ตั้งแต่ 0.125% ถึง 1.5%
ของรายได้ เงินสมทบค่า USO ฝั่งโทรคมนาคม 2.5% ของรายได้สุทธิ ฝั่งกระจายเสียงอัตรา 0.125% ถึง 1.5% ตามเพดานรายได้ และยังมีค่าธรรมเนียมเลขหมายสำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคม 1-1.5 บาทต่อเบอร์ต่อเดือน

ร้องขาดสภาพคล่องรุนแรง

สำหรับผู้ประกอบการที่ได้ส่งหนังสือขอขยายเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมมายัง กสทช.แล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งระบุขอความอนุเคราะห์ในการขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมทั้งกิจการโทรคมนาคมและกิจการโทรทัศน์ ที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่ เม.ย. 2563 ออกไปอย่างน้อย 3 เดือนของแต่ละรอบครบกำหนด เนื่องจากได้รับผลกระทบในแง่รายได้จากมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยังจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของโครงข่ายไว้ จึงจำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องเพื่อการบำรุงรักษาโครงข่าย

ขณะที่ “ไอเน็ต” บมจ.อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย ระบุว่า กระแสเงินสดของบริษัทได้รับผลกระทบเนื่องจากลูกค้าบางส่วนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จึงขอขยายเวลาจ่ายค่าธรรมเนียม เช่นเดียวกับ UIH บริษัทยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ และ บมจ.ซิมโฟนี่ ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดทำให้มีลูกค้ายกเลิกการใช้บริการเนื่องจากการปิดกิจการ และยังมีส่วนที่ขอปรับลดค่าบริการตั้งแต่ 20-100% รวมถึงขอผ่อนผันการชำระค่าบริการออกไปก่อน ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน จึงขอขยายเวลาจ่ายออกไปอีก 3 เดือน และขอให้พิจารณาปรับลดอัตราค่าธรรมเนียม