ธุรกิจ 4.0 “Sharing Economy” ความท้าทายรัฐยุคดิจิทัล

ในโลกยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีเข้ามาพลิกโฉมเศรษฐกิจ นอกจากจะเข้ามาทำลายล้างโมเดลธุรกิจเก่า ๆ แล้ว ยังสร้างนิยามใหม่ของเศรษฐกิจในรูปแบบการแบ่งปันทรัพยากรต่าง ๆ หรือ sharing economy ที่กำลังเบ่งบานไปทั่วโลก ในงาน Digital Thailand Big Bang 2017 ที่เพิ่งผ่านไป ได้เปิดพื้นที่เปิดมุมมองกับเบอร์ 1 ของธุรกิจที่ใช้โมเดล sharing economy

“โมฮิท เมห์โรตรา” Lead Partner, Monitor Deloitte ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัทที่ปรึกษาดีลอยท์ เปิดเผยว่า sharing economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน เป็นระบบเศรษฐกิจสังคมที่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนให้เติบโต มีทั้งการแบ่งปันการใช้สินทรัพย์ทางกายภาพ สิ่งที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ รวมไปถึงการกระจายสินค้าและบริการ

“การแบ่งปันกันใช้มีมานานแล้ว แต่แพลตฟอร์มดิจิทัลหนุนให้เติบโตขึ้น และไม่ใช่แค่การแชร์กันในระดับบุคคล แม้แต่ภาคธุรกิจก็เริ่มเข้ามาในโมเดลนี้ ทำให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มผลิตภาพในบางผลิตภัณฑ์ได้ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มทางเลือกในการสร้างรายได้ แต่หลายรัฐบาลยังไม่มีกฎระเบียบเข้ามากำกับดูแล หรือกฎระเบียบเดิมยังไม่ยอมรับ บางประเทศจึงใช้ถอยหลังไปตั้งหลัก”

ปี”68 โต 3.1 ล้านล้านเหรียญ

จากการประเมินของดีลอยท์คาดว่า มูลค่าที่เกิดขึ้นของเศรษฐกิจแบ่งปันทั่วโลกจะโตปีละ 30% หรือ 11 เท่าใน 10 ปีข้างหน้า หรือมีขนาด 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 เพิ่มจาก 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว หากเจาะในอาเซียนจะพบว่า หากรัฐบาลออกกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเติบโตจะทำให้มูลค่าตลาดโตถึง 5 เท่า จากที่เคยมีสัดส่วน 0.2% ของ GDP ปีที่แล้ว เป็น 1.5% ปี 2563 มีแรงงานฟรีแลนซ์เพิ่ม 1.6 เท่า หรือเป็น 650,000 ราย

ผลสำรวจทั่วโลกพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 68% อยากนำทรัพยากรที่มีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ sharing economy แต่ในไทยสูงถึง 80% อยู่อันดับ 5 ของประเทศที่ประชากรพร้อมแบ่งปันสินทรัพย์ให้คนอื่นใช้ หากเทียบผลสำรวจในแคนาดาพบว่า โมเดล sharing economy ช่วยยกระดับธุรกิจ SMEs ได้ถึง 67%

โครงสร้างที่เอื้อกับการเติบโตของ sharing economy คือ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องสร้างมาตรการการปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในมาตรการปกป้องทรัพย์สิน สร้างระบบบำเหน็จบำนาญและสร้างกลไกคุ้มครองแรงงานให้พร้อมรองรับการทำงานในลักษณะฟรีแลนซ์ที่จะกลายเป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ของคนในสังคม

“ทุกคนอยากได้เงินมากขึ้นจากเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ แต่การวางระบบของภาครัฐมีหลายประเด็นที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งไม่ได้แค่เปลี่ยนนโยบาย อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบดิจิทัล แบ่งปันดาต้า ทดลองระบบกำกับดูแลของภาครัฐในรูปแบบ sand box ในอินเดียกับอังกฤษ มีการทำเลขประจำตัวดิจิทัลเก็บข้อมูลและส่งเสริมการทำธุรกรรมดิจิทัล สร้าง API เชื่อมต่อระหว่างแพลตฟอร์มและอุปกรณ์ได้”

บริบทประเทศต่าง copy ไม่ได้

5 สิ่งสำคัญที่ต้องเกิดเพื่อให้ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจแบ่งปัน 1.นโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงมุมมองในแต่ละมิติ 2.การมีส่วนร่วมโดยตรงในตลาด หลายประเทศผลักภาระให้รัฐบาลว่าจะมีบทบาทอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาครัฐแต่ต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 3.ระดับการศึกษา ความตระหนักรู้ แม้ไทยจะพร้อมจะใช้โมเดลแบ่งปันทรัพยากรแต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่ได้รับรู้จึงควรมีมาตรการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ในทุกระดับ

4.ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม มีการส่งเสริมการสร้างประสบการณ์ที่ดี ส่งเสริมผู้พัฒนานวัตกรรมผู้คิดไอเดียใหม่ และ 5.โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มีมาตรฐาน API ให้แพลตฟอร์มให้แอปพลิเคชั่นคุยกันได้ ไม่ใช่เน้นเรื่องค่าบริการโทรคมนาคมอย่างเดียว

“หลายประเทศตอบสนองต่อ sharing economy ที่แตกต่างกัน ซึ่งในแต่ละประเทศมีบริบทต่างกัน จะ copy ประเทศอื่นมาใช้ทั้งหมดไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือเช็กลิสต์ใน 5 หมวดว่า ควรวางนโยบาย มาตรการและลงมือทำอะไรบ้าง”

เมกะเทรนด์ที่มาแรง

“โรบิน กวอก” ผู้จัดการประจำประเทศ AIRbnb เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกงและไต้หวัน กล่าวว่า โลกกำลังเปลี่ยน พฤติกรรมผู้คนกำลังเปลี่ยนทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต เป้าหมายชีวิต วิธีการเลือกสรรสิ่งต่าง ๆ มีความต้องการแชร์สิ่งของ เรื่องราวระหว่างกัน แม้แต่สัตว์เลี้ยงก็อยากแบ่งปันให้คนอื่นได้ชื่นชม ทำให้เศรษฐกิจแบ่งปันเป็นเมกะเทรนด์ที่มาแรงมาก

ขณะที่พลังในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ของอุปกรณ์ต่าง ๆ เล็กลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในปี 2568 ทั่วโลกจะมีคนใช้อินเทอร์เน็ตถึง 4.7 พันล้านคน ดังนั้นธุรกิจต้องดีไซน์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้

“10% ของเศรษฐกิจทั่วโลกขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว 21% ของ GDP ไทยมาจากท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน คนยุคนี้ รวมถึงคนจีนรุ่นใหม่ มีเวลา มีเงินมากขึ้น ชีวิตอิสระและทำงานยืดหยุ่น ต้องการเปิดประสบการณ์ใหม่ ในเอเชีย-แปซิฟิก AIRbnb โตเร็วที่สุดถึง 177% โดยเฉพาะในไทย”

แม้แต่กลุ่มผู้สูงวัยก็ต้องการเข้ามาหารายได้เพิ่ม และ AIRbnb ทำให้มีรายได้เพิ่ม 8,350 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

“ภารกิจของ AIRbnb คือการเชื่อมต่อโลก และขยายไอเดียไปทั่วเอเชีย-แปซิฟิก สร้างการท่องเที่ยวยั่งยืนทำให้เศรษฐกิจกระจายตัว เมื่อมีการเพิ่มพื้นที่พักก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ ๆ พื้นที่นั้นด้วย ขณะที่เจ้าของทรัพยากรได้ 97% ของค่าเช่ากลับไปเป็นรายได้เพิ่มให้ ปัจจุบันมีนักเดินทาง 220 ล้านคนใน 95 ประเทศ 191 เมืองทั่วโลกที่ใช้บริการเรา 86% ของนักเดินทางที่ใช้บริการ AIRbnb เพื่อให้ลงไปถึงท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างแท้จริง”

สร้างความเปลี่ยนแปลงทาง กม.

“เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายรัฐสัมพันธ์สื่อสารองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก Uber กล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ชีวิตประจำวันได้ และ 64 ชั่วโมงต่อปีคือเวลาที่คนกรุงเทพฯใช้บนถนน ไม่ได้แค่เสียเวลา แต่กระทบเศรษฐกิจด้วย 1.2 พันล้านบาทคือมูลค่าที่เสียไปกับปัญหาจราจร และ 22% ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อมก็มาจากรถยนต์ แต่หลังเปิดให้บริการ Uber ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นได้ถึง 63 ล้านกิโลเมตร ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 11,300 เมตริกตัน

“Uber มองว่ารูปแบบบริการของเรายกระดับการขนส่งของไทย ปลอดภัย พึ่งพาได้และราคาเหมาะสม จึงขอเชิญทุกคนที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายร่วมลงชื่อเพื่อให้มีการเปิดให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาเมือง ไทยแลนด์ 4.0 คือโอกาสสำคัญที่จะเปิดให้นำเทคโนโลยีมาสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ทุกอย่างยังอยู่ในมือของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ปัญหาสำคัญคืออุตสาหกรรมดั้งเดิมยังหวาดกลัว ทั้งที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากโมเดลนี้ได้ โดยเฉพาะผู้บริโภค”