Esports แหล่งอาชีพ รายได้ใหม่ชาว Gen Z

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

สตาร์ตอัพจำนวนมากรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดด้วยการเอาคนออกหรือไม่ก็เก็บพนักงานเดิมไว้ แต่เรื่องจะรับคนใหม่เป็นอันลืมไปได้เลย

ทว่า มีวงการหนึ่งที่ทำมาค้าขึ้นสุด ๆ ช่วงโควิด รุ่งเรืองขนาดรับสมัครพนักงานเพิ่มรัว ๆ แถมเงินเดือนหลักแสน (เหรียญ) ใครเห็นก็ต้องตาโตด้วยความอิจฉา วงการที่ว่าก็คือ esports นั่นเอง

esports ถือเป็นกีฬาหนึ่งเดียวที่ไม่ติดกฎ “การรักษาระยะห่าง” และสามารถนั่งลุ้นดูได้แบบสด ๆ ไม่ว่าจะกักตัวอยู่แห่งหนตำบลใดในโลกก็ตาม

ไม่แปลกที่ยอดผู้ชมการแข่งขัน esports ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้ง Twitch (ของ Amazon) YouTube และ Facebook จะพุ่งทะยานต่อเนื่องในช่วงล็อกดาวน์ จนต้องขยายทีมงาน รับสมัครพนักงานใหม่ไม่หยุดหย่อน

คนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ส่วนมากเป็น Gen Z และมิลเลนเนียล มีทักษะและเชี่ยวชาญหลากหลายตั้งแต่ ซอฟต์แวร์ เอ็นจิเนียร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ออกแบบเกม ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย โค้ช และทีมงาน พนักงานขาย ผู้จัดอีเวนต์ ทนายความ แม้กระทั่งเชฟมืออาชีพเพื่อทำอาหารให้นักกีฬา

Indeed เว็บหางานยอดนิยมระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีประกาศรับสมัครพนักงานใหม่ในแวดวง esports สูงขึ้น 43%

Comparably ที่เปรียบเทียบเงินเดือนของอาชีพต่าง ๆ พบว่า ค่าตอบแทนในวงการ esports นั้นไม่ธรรมดา

โดย Twitch ยืนหนึ่งในฐานะนายจ้างที่ให้เงินเดือนสูงสุด เช่น พนักงานไอทีจะมีเงินเดือนเฉลี่ยที่ 110,000 เหรียญ มาร์เก็ตติ้งเงินเดือนราว 103,000 เหรียญ หากเป็นเอ็นจิเนียร์ก็ใจป้ำจ่ายถึง 163,000 เหรียญ

ก่อนมีโควิด esports ก็มาแรงอยู่แล้ว เป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้ต่อปีสูงถึง 1 พันล้านเหรียญ มีฐานลูกค้ากว่า 433 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าหากยังโตวันโตคืนเช่นนี้ต่อไป ลูกค้าน่าจะขยับเป็น 645 ล้านคนในสิ้นปีนี้ และรายได้จะทะลุ 2.3 พันล้านเหรียญภายใน 2 ปีหน้า

เมื่อวันนั้นมาถึง esports จะขยี้กีฬากระแสหลักอย่างฟอร์มูล่า วัน และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ทั้งในแง่ของรายได้และฐานผู้ชมอย่างราบคาบ

ทุกวันนี้ลำพังแค่เงินรางวัลของ esports ก็ทิ้งห่างกีฬาอาชีพอื่น ๆ เยอะ เช่น ผู้ชนะการแข่งขันเกม Dota 2 รางวัลสูงถึง 25 ล้านเหรียญ มากกว่าผู้เข้าแข่งขันในยูฟ่าลีกหลายขุม

ด้วยความนิยมระดับนี้ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งถึงกับเปิดหลักสูตรเพื่อสอนวิชาเกี่ยวกับ esports กันอย่างจริงจัง ด้วยมองว่าเป็นสายอาชีพและธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ เช่น มหาวิทยาลัย Ohio State University ที่พัฒนาหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี-โท เพื่อผลิตบุคลากรมาป้อนวงการนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและออกแบบซอฟต์แวร์ การออกแบบและโปรดักชั่น เกมดีไซน์ การดูแลสุขภาพและฟื้นฟูร่างกายไปจนถึงการบริหารธุรกิจที่เกี่ยวข้อง


จะเห็นได้ว่า esports ไม่ใช่การ “ละเล่น” ของ “เด็กติดเกม” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นกีฬา “มืออาชีพ” ที่ต้องใช้ทั้งทักษะของนักกีฬาและมันสมองของผู้ผลิตที่เป็นทีมงานขนาดใหญ่ไม่แพ้บริษัทไฮเทคอื่น ๆ หากผู้ใหญ่หรือผู้นำประเทศพร้อมเปิดใจมองโลกให้รอบด้าน อาจยังไม่สายเกินไปที่ไทยเราจะก้าวทันประเทศอื่น