คนไทยช้อปไม่จำกัดเวลา LINE แนะใช้ Growth Mind set สร้างโอกาส

“LINE ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในบริษัทที่ปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากว่า 2 เดือน และเพิ่งทยอยให้พนักงานบางส่วนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้บ้างแล้ว แต่การจัดงานแถลงข่าว ยังจัดผ่าน Video Conference ล่าสุด (2 มิ.ย.2563) จัดสัมภาษณ์กลุ่มในหัวข้อ “การปรับตัวธุรกิจด้วย Growth Mindset” ท่ามกลางวิกฤตรับ New Normal

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะในแง่ของธุรกิจโดยรวมและคนทำงาน ไม่สามารถทำงานได้เหมือนปกติ ทำให้ธุรกิจบางส่วนได้รับผลกระทบรุนแรง ดังที่เห็นในต่างประเทศ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และค้าปลีก เป็นต้น

สำหรับ LINE ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งในแง่ธุรกิจโดยรวมและทีมงาน ปัจจุบันพนักงานที่อยู่ในประเทศไทยมีเกือบ 400 คน ไม่ได้เฉพาะออฟฟิศที่มีการทำธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนของการพัฒนาโปรดักส์ด้วย

“พอเกิดวิกฤต ทุกคนก็กลัว ไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไปยังไง หลังโควิดแล้วจะมีเวฟ 2 ไหม นิวนอร์มอลแปลว่าอะไร เชื่อว่าโควิดจะอยู่กับเราไปอีกสักพักจึงต้องปรับตัว การปรับตัวของ LINE พอเห็นเทรนด์การทำงานที่บ้าน ในระดับโกลบอลมีการขยับทีมดีเวลล็อปเปอร์ที่ปกติพัฒนาสินค้าหลายส่วน ไปทำพัฒนาซอฟแวร์ และฟีเจอร์ทีเกี่ยวกับการทำงานจากบ้านมากขึ้น

เช่น มีการปรับปรุงบริการไลน์คอล ให้ใช้ได้ทั้งบนพีซีและมือถือ เพราะคนส่วนใหญ่ทำงานบนพีซี เพิ่มฟีเจอร์แชร์สไลด์ได้ ล่าสุดสามารถดู วิดิโอร่วมกันได้ เป็นต้น ทั้งมองว่า ท่ามกลางวิกฤต มีโอกาสใหม่เสมอจึงผลักดันการขาย และพัฒนาโปรดักส์อย่างต่อเนื่อง

ไทยเป็นประเทศที่ชอบค้าขาย เรามีโซลูชั่นที่พัฒนาในไทย และปล่อยเป็นที่แรกของโลก คือ LINE MyShop ตามโรดแมปต้องค่อย ๆ ปล่อย แต่พอมีวิกฤตจึงทุ่มสรรพกำลังลงไปมากขึ้น ตัวเลขการใช้พุ่งขึ้นจนน่าตกใจ ครอบคลุมผู้ประกอบการทุกเซ็กเม้นท์ ขายตั้งแต่สินค้าหรูยันสินค้าเกษตร ซื้อรถ และมังคุดได้ในวันเดียวกัน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

สิ่งที่เห็น คือ ตอนนี้ทุกเวลาเป็นเวลาช้อปได้หมด

การปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเกิดจากวัฒนธรรมองค์กร แบบ “สตาร์ตอัพ คัมปะนี”

ผู้บริหาร LINE แนะนำว่าผู้ประกอบการไทยควรใช้จังหวะนี้ปรับองค์กร ผ่านแนวคิด Growth Mind set พลิกวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสใหม่ ภายใต้ 3 กลยุทธ์ คือ 1. การตั้งเป้าแบบก้าวกระโดด (Leapfrog Goal Set) 2.สร้างพลังและความเชื่อถือ (Empower & Trust) และ 3.ความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร่วม (Extreme Ownership)

“เวลาปกติคนมักไม่อยากเปลี่ยน ตอนนี้จึงเหมาะในการนำ Growth Mind set มาใช้ จะไม่มีคำตอบว่าที่ไม่ทำ เพราะไม่มีคน ไม่มีแผนกนี้อีกแล้ว แต่จะทำอะไรก็ได้ที่บริษัทอยู่รอด เราต้องสร้างขอบเขตของการสื่อสาร และการวางเป้าหมายของธุรกิจให้ชัดเจน ต้องรู้ว่าบริษัทจะทำอะไร การตั้งเป้าไม่ใช่แค่ให้พอทำได้ เพราะถ้าทำเหมือนปีที่แล้ว หรือเพิ่มนิดหน่อยก็ไม่มีทางโตได้”

ในองค์กร “ไลน์”เองก็มักมีคำถามตลอดจากทีมงานว่าทำไมต้องตั้งเป้าสูงมาก ซึ่งตนมักบอกว่าในเมื่อทุกคนมีเวลาเท่ากัน ทำไมต้องตั้งต่ำ ถ้าเซ็ทสูงอย่างน้อยทำได้ครึ่งนึงก็มากกว่าเดิม ตอนแรกทุกคนจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่พอได้ลองทำ ได้เรียนรู้ และเซ็ทเป้าให้เห็นตรงกันก็ทำให้ทีมมีแพชชั่น

เป้าหมายของ LINE ประเทศไทย คือการทำให้บริษัทโตเร็วที่สุด เทียบกับประเทศอื่นๆ และอยากเป็น “แพลตฟอร์มเพื่อคนไทย โดยคนไทย”

“ในแง่ธุรกิจ เราสร้างวัฒนธรรมแข่งกับตัวเอง มีเป้าภายในกันว่าจะเป็นไลน์คัมปะนีที่โตเร็วที่สุด ทีมงานก็จะคิดว่า ต้องแข่งกับญี่ปุ่น กับไต้หวัน”

กลยุทธ์ถัดมา คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ต้องทำงานจากที่บ้าน 100% ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย แต่ละองค์กรคงมีคำถามมากมาย เช่น วัดผลยังไง, รู้ได้ไงว่าคนที่อยู่บ้านทำงาน, เช็คชื่อยังไง ถ้าคิดแบบนั้นจะมีความเชื่อว่า คนไม่ทำงานหรือขี้เกียจจึงควรเปลี่ยนมุมคิดใหม่ ด้วยการมองว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้คนทำงานที่บ้าน “สบายที่่สุด” จะยืมเก้าอี้ของออฟฟิศไปใช้ได้ก็ได้ เป็นต้น

สุดท้าย คือ การสร้างความรู้สึกในความเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างแท้จริงในองค์กร

“ไลน์มีพนักงานไม่เยอะทำให้การทำอะไรบางทีไม่เป็นระบบ หลายองค์กรจะรู้ว่าถ้าไม่ชัดเจนว่างานนี้ของใคร สุดท้ายจะไม่เดิน และตามมาด้วยการทะเลาะกัน แต่ถ้าเราปลูกฝังว่าบริษัทนี้เป็นของคุณทุกคน โซลูชั่นนี้ฟีเจอร์นี้ทำให้คนไทยใช้ช่วยผู้ประกอบการไทย หลายงานที่ไม่มีความชัดเจน ก็จะช่วยกันทำได้”

นายนรสิทธิ์ กล่าวต่อด้วยว่า การขายของผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ใช่สิ่งใหม่ เช่นกันกับการขายผ่าน “ไลน์” แต่ในช่วงวิกฤคโควิด-19 เติบโตขึ้นกว่าปกติมาก ด้วยเหตุผลว่าที่ผ่านมาพฤติกรรมคนขายของผ่านไลน์เกิดขึ้นแต่ไม่ทุกวงการ และไม่ทุกเซ็กเม้นท์ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ขณะที่แบรนด์ใหญ่ไม่ได้ขาย รวมถึงค้าปลีกรายใหญ่เช่นกัน จนเมื่อมีโควิดทุกคนมาหมด

“เราเคยไปคุยกับห้างถามว่าทำไมไม่เปิดช้อปบนไลน์ เขาบอกว่าไม่มีคนทำไม่มีแผนก แต่พอโควิดมาทุกคนลุกขึ้นมาทำหมด ทั้งห้างฯ ทั้งแบรนด์สินค้าใหญ่ การขายของผ่านไลน์จึงกลายเป็นช่องทางนิวนอร์มัลของธุรกิจไทยสู่โลกออนไลน์ ขายตั้งแต่เกษตรกร ยันสินค้าหรู ราคาแพง ขายผ่านไลน์ยังมีประสิทธิภาพสูงที่สุดด้วย เพราะคนขายของราคาแพง สิ่งสำคัญคือการดูแลลูกค้า การแชทคุยกัน คือการดูแลลูกค้าเป็นซีอาร์เอ็มที่ดีที่สุด”

ผู้บริหาร LINE ประเทศไทย บอกด้วยว่าผู้บริโภคไทยเชื่อถือข้อมูลจากการสื่อสารผ่าน “แชท”มากกว่า “โซเชียลมีเดีย” มีสัดส่วนดังนี้ โทรศัพท์มือถือ 77% แมสเซนเจอร์แอป 65% โซเชียลมีเดีย 45% (อ้างอิงข้อมูลจาก Rakuten Insight)

ทั้งยังยกตัวอย่าง Find Food ชุมชนเกษตรกรที่ปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ โดยเปิดร้านบนแอปพลิเคชั่น “ไลน์” ขายผลไม้ และสินค้าเกษตรต่างๆ ทำให้มียอดขายกว่า 10 ตัน มีมูลค่ากว่าล้านบาท

“จำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดที่เปิดออฟฟิเชียลแอคเคาน์ 4 ล้าน ทั้งหมดมีร้านค้ารวมกันน่าจะหมื่นกว่าช้อป โตขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงที่ผ่านมา My Shop โต 10 เท่า การตั้งเป้าที่ค่อนข้างสูง และการมีโปรดักส์ใหม่ๆ ต่อเนื่องทำให้ผลประกอบการครึ่งปีแรกปีนี้ของไลน์ แม้มีผลกระทบจากโควิดก็ยังทำได้ตามเป้า ต้องบอกว่าคนไทยปรับตัวเร็วมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก และกลาง”

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน