ได้เวลา “รีสตาร์ต” ธุรกิจ เทคโนโลยีทัพหน้ากู้เศรษฐกิจ

ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 44 ของ “ประชาชาติธุรกิจ” 2 ผู้นำในองค์กรโทรคมนาคมระดับประเทศ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ “กสทช.” ในฐานะผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมมูลค่าแสนล้านบาท และสมชัย เลิศสุทธิวงค์ “ซีอีโอเอไอเอส” ในฐานะผู้ให้บริการเบอร์ 1 ในตลาดด้วยมาร์เก็ตแชร์ทั้งแง่จำนวนผู้ใช้และรายได้ เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง “วิกฤตโควิด-19”

5G ลดเหลื่อมล้ำ

“ฐากร” เลขาธิการ กสทช.

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

Q : กสทช.จะมีส่วนช่วยคนไทยจากนี้

เรื่องแรกคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องถือว่าโทรคมนาคมมีความสำคัญมากที่สุดแล้วในขณะนี้ เพราะว่าทุกธุรกิจจะเกี่ยวกับโทรคมนาคมหมด โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านการเงินที่ในอดีตถูกแยกออกจากกันระหว่างโทรคมนาคมกับการเงิน โทรศัพท์คือโทรศัพท์ การเงินก็การเงิน แต่ตอนนี้เป็นระบบเดียวกัน วันนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปธนาคารแล้วจะซื้อของผ่านออนไลน์ก็ผ่านมือถือได้หมด

โลกยุคนี้ไม่สามารถแยกจากกันได้ ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศยุคนี้ต้องใช้โทรคมนาคมนำหน้า ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องไปถึงพี่น้องประชาชนในชนบท 3 เรื่อง

หนึ่งคือ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

เรื่องแรก คือ สาธารณสุข เมื่อมี 5G ทำให้เราสามารถรักษาทางไกล สมาร์ทฮอสพิทอลได้ ขณะนี้เราทำความตกลงกับกระทรวงสาธารณสุขใน 4 โรค ตา เบาหวาน ความดัน และผิวหนังถ้าเราลดภาระตรงนี้ได้ก็จะทำให้คนไข้ที่เดินทางไปพบแพทย์น้อยลงได้แต่ยังเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางได้

ส่วนที่สอง การศึกษา ถ้ามีระบบการศึกษาออนไลน์ที่ดีกว่าปัจจุบัน ก็จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนบทได้

สาม การสร้างรายได้ในชนบท ในอดีตการแก้ไขปัญหา คนชนบทต้องมาทำงานในเมือง มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน ทำให้สังคมเมืองแออัด ชนบทเอาลูกไว้กับปู่ย่า แต่ในโลกปัจจุบันจะน้อยลง เพราะทุกคนทำงานผ่านโทรคมนาคมได้ ทั้งสตาร์ตอัพ เศรษฐกิจชุมชน จะทำให้สภาพครอบครัวต่าง ๆ มีความมั่นคง เป็นปึกแผ่นจริง ๆ

อยากให้รัฐบาลเดินหน้าเรื่องพวกนี้ ทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม และสังคมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ

Q : โควิดกับเทคโนโลยี

ตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว ผมเคยทำนายบนเวทีเสวนาไปแล้วว่า เศรษฐกิจประเทศต้องขับเคลื่อนผ่าน 5G ทุกประเทศต้องใช้ระบบโทรคมนาคมในการเดินหน้าในส่วนที่สองก็คือ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ต้องใช้ระบบโทรคมนาคม

แต่วันนี้สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 4-5 ปีข้างหน้า กลับเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด

เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ด้วยสถานการณ์โควิด ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ดี เพราะเราถือธงนำ เนื่องจากว่าเราเป็นชาติแรกที่ใช้ 5G ที่เป็นด้านธุรกิจในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด ประเทศไทยโชคดีแล้วต้องใช้ 5G ในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้ และกู้ เศรษฐกิจของประเทศกลับมาให้เร็ว

Q : เป็นตัวกลางจัดการจึงเห็นปัญหา

ขณะนี้ต้องบอกว่า การที่จะเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5G ยังถือว่าไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์โควิด

อีกเรื่องก็คือต้องมีบูรณาการกันในการทำงาน เพราะการขับเคลื่อน 5G ของประเทศต้องได้รับความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ซึ่งรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติเกิดขึ้น

ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะอีอีซี กระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นคนรับผิดชอบอยู่ จะต้องทำงานกับภาคโทรคมนาคมในการขับเคลื่อนต่อไป เพื่อให้เดินหน้าต่อได้

Q : จะไปรับตำแหน่งอะไรต่อจากนี้

ยังไม่มีธงคำตอบในใจนะครับ เรื่องนี้ผมเรียนอย่างนี้ ที่ผมต้องพ้นจากตำแหน่งไป (1 ก.ค. 2563) ไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะไปรับตำแหน่งใดทั้งสิ้น แต่เป็นการที่ผมเคยแสดงวิสัยทัศน์ในปี 2554 ที่ผ่านมาว่า ผมจะไม่อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. จนครบวาระ (เกษียณ ก.ย. 2563) เพื่อเปลี่ยนผ่านให้คนอื่นเข้ามามีแนวคิดใหม่ ๆ ในการที่จะมีตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.

ผมอยากสร้างบรรทัดฐานว่า เมื่อเราแสดงวิสัยทัศน์อะไรไว้ เราควรปฏิบัติตาม แต่ที่ว่าจะไปรับตำแหน่งอะไร ยังไม่มี เพียงแต่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้กับบอร์ด และสาธารณะ

Q : มีรับตำแหน่งการเมือง

ไม่มีครับ

 


“เอไอเอส 5G ฟื้นฟูประเทศ”

“สมชัย” ซีอีโอ เอไอเอส

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

Q : โควิดไม่กระทบสื่อสาร

โควิด-19 กระทบกับทุกอุตสาหกรรมจริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่เอไอเอส แต่อาจไม่มากเท่าธุรกิจอื่น และการที่มีคนใช้มาก ๆ ขึ้น ทำให้ต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้มีคาพาซิตี้เหลือพอในการที่จะทำให้เน็ตเวิร์กใช้งานได้ตามปกติ แต่ตัวรายได้ไม่สามารถเพิ่มได้ เพราะผู้ใช้บริการมีเงินในกระเป๋าน้อยลง ช่วงชัตดาวน์โอกาสในการขาย ซิมใหม่ มือถือใหม่ก็ขายไม่ได้ รายได้จากนักท่องเที่ยว เดือนหนึ่งราว 3 แสนเลขหมายก็หายไป

Q : ต้องลงทุนเพิ่มด้านใดบ้าง

เน็ตเวิร์กถ้าจะใช้ให้มีความเสถียร มีสปีดสูง ต้องลงทุนคาพาซิตี้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญปีนี้ เอไอเอสไปประมูลคลื่นความถี่ 5G เข้ามา ทำให้ต้องลงทุนคลื่น 5G เพิ่ม 2 ส่วนนี้ทำให้ปีนี้ต้องลงทุนเพิ่ม 3-4 หมื่นล้านบาท และทำให้ cost หรือค่าเสื่อมในเรื่องไฟแนนเชียลเพิ่มด้วย

Q : ช่วยธุรกิจรีสตาร์ต

โควิดทำให้ดิจิทัลไลเซชั่นมาเร็วขึ้น ที่เราต้องทำ คือ 1.คงเน็ตเวิร์กที่เปรียบเป็น “ดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์” ที่สำคัญ ให้เพียงพอ ไม่งั้นธุรกิจอื่นกระทบด้วย

2.ทำดิจิทัลแพลตฟอร์มเพิ่มที่จะช่วย ดีไซน์แพ็กเกจที่เหมาะกับทุกอุตสาหกรรม เช่น แพ็กเกจเรียนออนไลน์ แพ็กเกจ WFH และดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะช่วย SME อุตสาหกรรมอื่นรีสตาร์ตได้เร็วขึ้น

Q : 5G ภาคสาธารณสุขเด่นมาก

มีโครงการเอไอเอส 5G สู้ภัยโควิด ทำตั้งแต่ลงทุนเครือข่าย 5G ในกว่า 16 รพ. เพื่อให้ใช้งานไม่สะดุด เฟส 2 เพิ่มหุ่นยนต์ช่วยลดเสี่ยงให้แพทย์ พยาบาล และในเฟส 3 เพิ่ม AI ตรวจโควิด

ที่จะทำเพิ่มคือ ช่วงคลายล็อกดาวน์ ใครจะช่วยให้อยู่ในระเบียบ ไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ได้ ก็จะเห็นว่าพี่น้อง อสม.เป็นนักรบด่านหลัง เราพัฒนาแอป อสม.ออนไลน์ ที่ทำมา 4 ปี เพิ่มฟีเจอร์ฟังก์ชั่น เป็นเครื่องมือช่วย อสม. และจะทำเรื่องสาธารณสุขต่อไป ทั้งเทเลเมดิซีน การผ่าตัดทางไกล ช่วยหมอ พยาบาลที่ห่างไกลด้วยระบบ 5G ก็ทำได้

Q : พร้อมรีสตาร์ตธุรกิจครึ่งปีหลัง

เรายังเป็นธุรกิจที่โชคดี ถึงแม้จะกระทบก็ยังไม่มาก ยังสามารถลงทุนต่อไป เพื่อรองรับการรีสตาร์ตธุรกิจในอนาคตอย่างจริงจัง ไม่ใช่ของเอไอเอสอย่างเดียว แต่ของพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ด้วย ระบบที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมอื่นอยู่รอดต่อได้ในดิจิทัลไลเซชั่น เราจะลงทุนเพิ่มเรื่องแพ็กเกจ การสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ช่วยอุตสาหกรรมอื่น อีโคซิสเต็มก็จะทำได้ เรามีแผนว่าเมื่อทำ 5G ก็อยากประกาศแคมเปญใหม่ ที่เรียกว่า “เอไอเอส 5G ฟื้นฟูประเทศ”ก็อยากให้พวกเรารอดูว่า เอไอเอส 5G ฟื้นฟูประเทศ เราจะมีอะไรที่ออกมาฟื้นฟูประเทศอีกที

Q : เห็นโอกาสในวิกฤตโควิด

ทั้งโลกก็ประสบปัญหานี้ สิ่งที่เราเจอก็เป็นวิกฤตจริง ๆ พยายามทำให้เป็น “โอกาส” ให้ได้ เมื่อเจอแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เราต้องทำคือ 1.ร่วมด้วยช่วยกันทุกคนในการแก้ไขปัญหา นำพาให้ผ่านพ้นวิกฤต

1.รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยให้คนอยู่รอดก่อน เพราะอันนี้ใหญ่จริง ๆ ช่วยให้คนอยู่รอด2.บริษัทใหญ่ต้องมาช่วยบริษัทเล็ก ๆ เพราะเรายังมีกำลัง มีขีดความสามารถ มีกำลังมากพอและท้ายที่สุด จะเป็นรัฐบาลช่วยหรือบริษัทใหญ่ช่วยไม่พอ ทุกคนต้องช่วยตัวเองด้วย

อยากฝากความคิดไว้ให้ทุกคนมีกำลังใจ อยากให้คิดว่า วิกฤตเป็นสิ่งที่ต้องเจอ อยากให้ในอนาคต อยากปรับเป็นโอกาส ให้ทุกคนมีความหวัง คิดบวก และลงมือทำ เพื่อทำให้วิกฤตตรงนี้ผ่านไปได้ด้วยกัน