การตายของ จอร์จ ฟลอยด์ กับด้านมืดของวงการเทค

จอร์ด ฟรอยด์
REUTERS/Mike Segar
คอลัมน์ Tech Time
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

การเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวสีชาวอเมริกันที่ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดหลังคอจนเสียชีวิต สะท้อนว่าการเหยียดผิวและความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นยังดำรงอยู่อย่างเข้มข้นในสังคมอเมริกัน แม้แต่วงการ tech industry ที่หลายคนคิดว่าความ “ล้ำสมัยแห่งนวัตกรรม” จะสร้างบรรยากาศที่มี “อิสระและเปิดกว้าง”

นับจากยักษ์ใหญ่อย่าง Apple Facebook Google และ Microsoft เปิดรายงานด้านความหลากหลายทางเพศ-เชื้อชาติเพื่อความเท่าเทียมเป็นครั้งแรกในปี 2014 ตอนนั้นทุกบริษัทยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวและรับปากว่าจะเพิ่มสัดส่วนคนผิวสี

“ทิม คุก” แห่ง Apple ถึงกับเมล์หาพนักงานว่าจะเป็นผู้นำด้านการสร้างความหลากหลายในองค์กรพอ ๆ กับที่เป็นผู้นำการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ถึงวันนี้ Apple ปล่อย iPhones ออกสู่ตลาดไม่รู้กี่รุ่น แต่สัดส่วนคนผิวดำในองค์กรยังน้อย โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เป็นหัวใจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น coders engineers หรือ data scientists ที่ยังอยู่ที่ 6% ตลอด 5 ปีไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วน Google และ Microsoft มีคนผิวดำหรือเชื้อสายละตินเพิ่มไม่ถึง 1%

กระนั้น “ฟรีดา ไคลน์” นักลงทุนจาก Kapor Capital ที่รณรงค์เรื่องการสร้างความเท่าเทียมและความหลากหลายในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมาหลายปี เชื่อว่าปัญหาหลักมาจาก “ทัศนคติและวัฒนธรรมองค์กร” ที่หยั่งรากลึกทำให้เกิด “การเลือกปฏิบัติ” ตั้งแต่การสัมภาษณ์ไปจนถึงความก้าวหน้าในอาชีพ

บริษัทที่ติดโผ Fortune 500 มีซีอีโอเพียง 4 คนที่เป็นคนดำ แถมไม่มีสักคนทำงานใน tech industry

คนอย่าง “ชาร์ลีย์ มัวร์” จาก Rocket Lawyer หรือ “ราล์ฟ คลาร์ก” จาก ShotSpotter กลายเป็น “สิ่งแปลกแยก” เพราะเป็น “ซีอีโอคนดำ” ที่ทะลุเส้นแบ่งชนชั้นเป็นผู้นำเทคสตาร์ตอัพได้

“มัวร์” เล่าให้ CNBC ฟังว่า ปลายปีก่อนเคยโดนตำรวจเรียกให้จอดรถ ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดกฎจราจร เมื่อเขายกโทรศัพท์ขึ้นอัดคลิปไว้เป็นหลักฐาน พร้อมบอกว่าเป็นทนายความ ท่าทีของตำรวจเปลี่ยนเป็น “มิตร” ขึ้นมาทันที และว่าเป็นเรื่องที่เขาพบเจอมาตลอดชีวิต

ต่อให้ผู้นำยักษ์ใหญ่ไฮเทคจะตบเท้าประณามความรุนแรงกรณี “จอร์จ ฟลอยด์”ด้วยแฮชแท็ก #BlackLivesMatter แต่ภาพลักษณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น ตราบที่การกระทำยังสวนทาง ที่เห็นชัด คือ Facebook มีคนดำระดับผู้บริหารแค่ 3.1%

แต่ที่ทำให้ Facebook กลายเป็นตำบลกระสุนตก คือ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ประกาศบริจาคเงิน 10 ล้านเหรียญเพื่อส่งเสริมการสร้าง “ความเท่าเทียม” แต่วันถัดมาก็บอกกลุ่มนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชน ว่าจะไม่ลบโพสต์ของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำยั่วยุรุนแรง

โดยยืนยันว่า ต้องดำรงไว้ซึ่ง “เสรีภาพในการแสดงออก” ของทุกคน ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามต่อจุดยืน และความรับผิดชอบในฐานะโซเชียลทรงอิทธิพล

ยิ่ง Twitter ลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนต่อต้านความรุนแรง ด้วยการซ่อนทวิตนี้ของ “ทรัมป์” พร้อมขึ้นคำเตือนว่ามีถ้อยคำที่ยั่วยุ ยิ่งทำให้ Facebook ดูแย่ แม้แต่พนักงาน Facebook ยังประท้วงผ่าน virtual walkout หรือการไม่ log inเข้าทำงานเป็นเวลา 1 วันด้วย

“ราล์ฟ คลาร์ก” ซีอีโอผิวดำจาก ShotSpotter บอกว่าหากเปลี่ยนเงินบริจาค 10 ล้าน เป็นการเปิดโอกาสให้คนดำได้ขึ้นตำแหน่ง VP น่าจะส่งผลดีต่อการสร้างความ “เท่าเทียม” มากกว่า

“คลาร์ก” เข้าใจปัญหาที่เกี่ยวกับ “ปืนและตำรวจ” ได้ดีกว่าซีอีโอทั่วไป เพราะบริษัททำงานใกล้ชิดกับตำรวจกว่า 100 เมืองทั่วประเทศ รวมทั้งเมืองมินนีแอโพลิสด้วยที่น่าเศร้าคือเทคโนโลยีของ ShotSpotter มีไว้ช่วยตำรวจระบุตำแหน่งมือปืนเพื่อลดความรุนแรงและความสูญเสีย

ไม่น่าเชื่อว่าในยุคที่เทคโนโลยีพาเรานั่งยานอวกาศไปเที่ยวนอกโลกได้แล้ว การปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ยังดึกดำบรรพ์ ไม่เปลี่ยนแปลงกรณี “จอร์จ ฟลอยด์” ยิ่งตอกย้ำความจริงอันเจ็บปวดนี้ เพราะต่อให้วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีจะล้ำสมัยเพียงใดก็ไม่สามารถพามนุษย์ให้ก้าวข้ามการเหยียด การแบ่งชนชั้น และความอยุติธรรมในสังคมไปได้อยู่ดี