ข้อมูล-สนามเทสต์ แรงหนุน “HealthTech” ไทย

“โควิด-19” เป็นแรงกระตุ้นสำคัญของการพัฒนา “HealthTech” เพื่อต่อกรกับโรคระบาดนี้

“ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า โควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เกิด “local technology” ที่พัฒนาโดยคนไทยจำนวนมาก เพราะ นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศค่อนข้างลำบาก อาทิ เทคโนโลยี negative pressure room หรือห้องความดันลบ

เนคเทคเองก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีในช่วงวิกฤตนี้ อย่าง “มิวเทอร์ม เฟซเซนส์” (?Therm-FaceSense) เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ ผ่านการสแกนใบหน้า ตรวจวัดอุณหภูมิ รู้ผลแม่นยำใน 0.1 วินาที

หรือแอปพลิเคชั่น DDC Care ระบบติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พัฒนาให้กับกรมควบคุมโรค รวมทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ high performance computing เพื่อการวินิจฉัยโรคทางเอกซเรย์ โรคปอด เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพ ที่ผู้บริโภคทั่วไปใช้งานได้สะดวก สามารถตรวจสุขภาพด้วยตัวเอง หรือติดตามสุขภาพของผู้ใช้งาน ก็เป็นที่ต้องการและเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่ทำให้ new normal เกิดขึ้นได้ในอนาคต

“ยังมองว่ามีโอกาสสำหรับ HealthTech มากมาย หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมา ควรนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปตรวจสอบมาตรฐานการใช้งานให้ถูกต้อง เพราะเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว โรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ จะต้องเช็กมาตรฐานของอุปกรณ์เหล่านี้ทั้งหมด”

ขณะที่ “ข้อมูล” คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ HealthTech ในไทยเกิดขึ้นได้จริง เพราะจำเป็นต้องนำเอาข้อมูลทางสุขภาพมาทำการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุม data privacy

“หลายหน่วยงานมีความกังวลเรื่องของ data privacy ดังนั้น หากมีการจัดการ data governance ได้ อีกหลาย ๆอย่างจะเกิดขึ้นตามมา เช่น ถ้าสามารถ anonymous หรือทำให้ไม่สามารถรู้ว่าเป็นของใคร โดยมีการวางแผนกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูล ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย”

รวมถึงร่วมกันวิจัยกับหลายๆ หน่วยงานเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ตอบโจทย์การใช้งาน และเกิดธุรกิจได้จริงและมีแนวทางสนับสนุนเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ “ทดลองทดสอบ” ในสถานการณ์จริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในขั้นตอนการพัฒนา และจะผลักดันให้ HealthTech ฝีมือคนไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้น

“ถ้าหากมีวัคซีนสำหรับไวรัส การนำเข้าเทคโนโลยีไม่มีอุปสรรค “local technology” ก็ต้องเตรียมพร้อมกลับไปต่อสู้กับเทคโนโลยีจากต่างประเทศด้วย”