
สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานการประชุมฯ ได้มีการพิจารณาข้อเสนอโครงการสำหรับการจัดหาเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ด้านดิจิทัลที่สนับสนุน ช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพของประชาชน เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงพยาบาลรัฐ สถานพยาบาลภาครัฐโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ สภากาชาดไทย ที่ได้รับผลกระทบหรือต้องการช่วยเหลือสนับสนุน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทาง สดช. ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของกองทุนฯ ได้เปิดให้หน่วยงานต่างๆ ยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาระหว่างวันที่ 21 – 30 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานที่ยื่นข้อเสนอมากกว่า 200 โครงการ จาก 159 หน่วยงาน
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ในวันที่ 12 มิ.ย. 2563 ได้อนุมัติเงินสนับสนุนให้กับ 42 โครงการเป็นเงิน 393.87 ล้านบาท อาทิ โครงการสนับสนุนหุ่นยนต์ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ชุดปฏิบัติการแสดงผลและควบคุมติดตามสัญญาณชีพ Telemedicine เครื่องช่วยหายใจดิจิทัล ห้องแยกความดันลบ ระบบคัดกรองผู้ป่วย เป็นต้น
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ กล่าวว่า ขอให้ สดช. เร่งดำเนินโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ให้เป็นไปตามแผน และดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน การบริหารกองทุน ต้องพิจารณาดำเนินการ ให้เป็นไปตามระเบียบ และข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และขอฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ช่วยผลักดันและกำกับ ให้การส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนเกิดประโยชน์สูงสุดในวงกว้าง เป็นไปตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของกองทุนต่อไป
ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า การจัดสรรเงินประมาณครั้งนี้ คาดว่าจะมีประชาชนกว่า 4.6 ล้านคนได้รับประโยชน์ และช่วยลดภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ทั่วประเทศอย่างครอบคลุม อาทิ เชียงใหม่ พะเยา ร้อยเอ็ด อุดรธานี ชัยนาท กาญจนบุรี จันทบุรี พัทลุง ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ เป็นต้น
ด้านนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลฯ กล่าวว่า ทางกองทุนฯจะเร่งดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานผู้รับทุนสามารถนำงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไปใช้ให้เกิดประโยชน์โดยเร็วที่สุด เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งให้ประเทศไทยพ้นวิกฤตในครั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านสาธารณสุข ทั้งจะขยายการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในด้านอื่นต่อไป