ยุติชุลมุนคลื่น 2600 ? กสทช. ควัก 3,235 ล้านจ่าย อสมท

ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2563 ก็มีมติจ่ายเงินเยียวยา การเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก บมจ.อสมท ก่อนกำหนด เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ด้วยการประมูลสำหรับใช้ให้บริการ 5G เป็นเงิน 3,235.83 ล้านบาท

หลังจากมีการเสนอเข้าบอร์ดหลายครั้ง แต่ไม่ได้ข้อสรุป โดยเฉพาะในการประชุมเมื่อ 27 พ.ค. 2563 ที่บอร์ดเสียงแตก ถึงขั้นเกิดการ walk out

3 จาก 6 เสียง เห็นชอบวงเงิน

เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เปิดเผยว่า มติที่ประชุมบอร์ดล่าสุด (10 มิ.ย.) เห็นชอบให้จ่ายเงินเยียวยา อสมท 3,235.83 ล้านบาท โดยเป็นการคำนวณจากระยะเวลา 6 ปี 5 เดือน

โดยแยกเป็นระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของ อสมท ที่นับตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติให้คืนคลื่นความถี่ จนถึงวันที่ 3 เม.ย. 2565 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี รวมกับระยะเวลาการพิจารณาสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว ที่ทำให้ อสมท ขาดความชัดเจนในสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว โดยเป็นห้วงเวลาตั้งแต่วันที่แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่มีผลบังคับใช้ (20 เม.ย. 2555) ถึงวันที่ อสมท ได้รับทราบสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว (23 ก.ย. 2558) เป็นระยะเวลา 3 ปี 5 เดือน

ขณะที่การแบ่งสัดส่วนเงินเยียวยาระหว่าง อสมท กับคู่สัญญา คือ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด นั้น บอร์ดรับทราบและให้ อสมท ปฏิบัติตามหนังสือของ อสมท ที่ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ซึ่งระบุให้แบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวในจำนวนเท่า ๆ กัน ระหว่าง อสมท กับบริษัทคู่สัญญา

“มติบอร์ด กสทช.ในส่วนของการกำหนดกรอบวงเงินเยียวยา มี 3 เสียงเห็นชอบให้จ่าย 3,235 ล้านบาท อีก 2 เสียงให้จ่าย 4,275 ล้านบาท ส่วนการกำหนดสัดส่วนที่ต้องแบ่งให้คู่สัญญา มี 5 เสียงที่เห็นด้วยตามหนังสือของ อสมท ซึ่ง กสทช. ประวิทย์ (ลี่สถาพรวงศา) ขอไม่เข้าร่วมลงมติทั้ง 2 ส่วน”

ยืนยัน กสทช.มีมติไปแล้ว

สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาจะแบ่งเป็นงวดตามที่ สำนักงาน กสทช.ได้รับเงินค่าประมูลคลื่น 2600 MHz ซึ่งจะทยอยจ่ายเป็นเวลา 10 ปี โดยคาดว่างวดแรกน่าจะดำเนินการได้ในเดือนนี้

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามเห็นชอบในการให้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท ร้องเรียนผู้บริหารที่ทำหนังสือถึง กสทช. ระบุจะแบ่งเงินเยียวยาให้กับเอกชนคู่สัญญาในสัดส่วน “เท่า ๆ กัน”
ทำให้ อสมท เสียประโยชน์นั้น เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า

“เราคงไม่ได้พิจารณาในเรื่องนั้น เพราะในกฎหมายระบุว่า กสทช.จะแบ่งสัดส่วนหรือไม่แบ่งก็ได้ เมื่อ อสมท ยืนยันว่า ให้ กสทช.แบ่งให้ในสัดส่วนเท่า ๆ กัน บอร์ดจึงมีมติรับทราบ และให้ดำเนินการตามหนังสือที่ อสมท แจ้งมา เพราะ กสทช.จะจ่ายเงินไปที่ อสมท และให้ อสมท ไปดำเนินการตามนั้น เราถือว่า กสทช.มีมติไปแล้ว”

และหาก อสมท ไม่เห็นด้วยกับมตินี้ ก็สามารถอุทธรณ์เข้ามาที่ กสทช. ตามกฎหมายที่เปิดโอกาสไว้ได้อยู่แล้ว ซึ่งหากไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ โดยปกติ กสทช.ก็จะไม่รับอุทธรณ์ ขั้นตอนจะไปสู่กระบวนการฟ้องร้องที่ศาลปกครองต่อไป

“เวลา” ตัวแปรที่ไม่เคลียร์

ย้อนกลับไปก่อนการประมูล 5G คลื่น 2600 MHz ที่นำออกประมูล มีผู้ใช้งานอยู่เดิม คือ กองทัพ และ อสมท โดยในกระบวนการเรียกคืนคลื่น กรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ส่งคืนโดยไม่เรียกร้องค่าเยียวยา ส่วนกรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก ได้คลื่นย่านใหม่ทดแทน พร้อมค่าดำเนินการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเปลี่ยนอุปกรณ์ รวม 447.79 ล้านบาท

ขณะที่กรณีของ อสมท ได้ส่งหนังสือแจ้ง กสทช. ระบุค่าเสียโอกาสทางธุรกิจจากการเรียกคืนคลื่นก่อนกำหนด เป็นมูลค่า 50,480 ล้านบาท

ทางสำนักงาน กสทช.จึงได้จ้างที่ปรึกษาจาก 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พิจารณามูลค่าคลื่นและกำหนดเงินเยียวยา

โดยสรุปมูลค่าคลื่นที่ 35,378 ล้านบาท

แต่ประเด็นที่ยืดเยื้อคือ “เวลา” ที่จะเป็นฐานคำนวณค่าเสียโอกาสทางธุรกิจที่ต้องคืนคลื่นก่อนกำหนด เพราะมีปัญหามาตลอดว่า “สิทธิ” ถือครองคลื่นย่านนี้ของ อสมท จะ “สิ้นสุด” เมื่อใด

ผลการวิจัยของทั้ง 3 สถาบัน ต่างมีฐานจำนวนปีที่นำมาคำนวณแตกต่างกัน ตั้งแต่ 15 ปี ที่จะทำให้ อสมท ได้รับเงินเยียวยาสูงถึง 6,685.1 ล้านบาท ไปจนถึง “ไม่ต้องจ่าย”

กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งยืนยันมาตลอดว่า กสทช. “ไม่ควรจ่าย” เงินเยียวยาให้ อสมท

เนื่องจากหลายปีก่อนเคยมีการชี้แล้วว่า อสมท ไม่มีเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่น และเคยมีการตรวจสอบไม่พบการใช้งานคลื่นนี้ด้วย

ทั้งยังไม่ชัดด้วยว่า สัญญาที่ อสมท ทำกับบริษัท เพลย์เวิร์ค ให้ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS เพื่อให้บริการโทรทัศน์บนเทคโนโลยีแบบบรอดแบนด์ไร้สาย (BWA) ชอบด้วยกฎหมาย

ชุลมุนมติบอร์ด

สำหรับฐานในการประเมินค่าเสียโอกาสทางธุรกิจของ บมจ.อสมท นั้น เป็นไปตามสัญญาธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS กับบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ที่ทำไว้เมื่อ 1 ต.ค. 2553

ตามสัญญาดังกล่าว อสมท จะได้ส่วนแบ่งร้อยละ 9 จากรายได้หลังหักค่าเช่าโครงข่าย และบริษัท เพลย์เวิร์ค ได้ส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 91

โดยค่าเช่าโครงข่ายคิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้รวมทั้งหมด

ที่ผ่านมา อสมท ยังไม่เคยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตามสัญญาดังกล่าว ทำให้ผลการศึกษาของ 3 สถาบันที่เสนอต่อ กสทช. จึงมีตัวเลขมูลค่าการเสียโอกาสทางธุรกิจแตกต่างกัน ตั้งแต่ขาดทุน 133 ล้านบาท ไปจนถึงมีกำไร 3,023 ล้านบาท

ขณะที่มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อ 10 ก.พ. 2557 เคยมีมติให้สัญญาระหว่าง อสมท กับเพลย์เวิร์ค ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากเป็นการให้บริการโทรทัศน์ประเภทอื่น นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นที่มีอยู่เดิม จึงเป็นการประกอบกิจการโทรทัศน์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามกฎหมายก่อน

แต่ 1 ก.ย. 2558 ที่ประชุมบอร์ด กสทช. “เสียงข้างมาก” ได้มีมติ “ยกเลิก” มติของที่ประชุมบอร์ด กสท.ดังกล่าว

แต่บอร์ด “เสียงข้างน้อย” อย่าง พ.อ.นที ศุกลรัตน์, สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ไม่เห็นด้วยกับการลงมติดังกล่าว และขอสงวนความเห็นแนบท้ายบันทึกการประชุม