ดีแทคแจงปั้นแบรนด์ “ไลน์โมบาย” บี้พนง.แข่งกันเอง

ดีแทคย้ำอีกรอบ ปั้น “ไลน์โมบาย” เป็นแบรนด์ใหม่ หวังดิสรัปต์ตัวเองกดดันให้แข่งเพื่อบริการดีที่สุด ปักธงปี 2020 ให้ยอดขาย 40% ต้องมาจากออนไลน์ พร้อมสร้างดิจิทัลแคร์ให้ลูกค้าได้ 80% มั่นใจเดินตามกฎหมาย “กสทช.” ไม่มีสิทธิ์ปิดบริการ

นายแอนดริว กวาลเซท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดิจิทัล บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า ผู้บริโภคในไทยตื่นตัวกับโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างมาก บริษัทจึงได้ตั้ง “ดิจิทัลกรุ๊ป” ขึ้นมาเป็น 1 ใน 7 กรุ๊ปสายงาน รองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป มีเป้าหมายปรับดีแทคไปสู่วิถีดิจิทัลมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับ 1.ดิจิทัลแคร์ 2.ดิจิทัลเซลส์ 3.ดิจิทัลมาร์เก็ต 4.ดิจิทัลสแตรทิจี ที่จะเปลี่ยนให้เป็นผู้ให้บริการดิจิทัลภายในปี ค.ศ. 2020 ที่จะต้องมียอดขายจากช่องทางออนไลน์ 40% ช่องทางการให้บริการลูกค้าผ่านทางออนไลน์ได้ 80% จากเดิมที่ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมียอดขายออนไลน์น้อยกว่า 5% และช่องทางบริการออนไลน์ราว 15% เท่านั้น 5.การลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ ในดีแทค แอคเซอเลอเรท และไลน์โมบาย

ดังนั้นบริการ “ไลน์โมบาย” จึงเป็นแบรนด์ใหม่ ภายใต้การดูแลของดิจิทัลกรุ๊ป มีทีมงานเป็นอิสระเพื่อเอื้อต่อการคิดนอกกรอบ สร้างบริการที่ตอบสนองผู้บริโภคให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันแบรนด์ดีแทคจะมุ่งปรับสู่ดิจิทัลด้วยเช่นกัน

“ไลน์โมบาย คือการลงทุนสร้างแบรนด์ใหม่ เป็นแบรนด์ที่ 2 ภายใต้ DTN (บริษัทดีแทค ไตรเน็ต) ที่ทีมบริหารมีอิสระ แต่เจ้าของคือ DTN พนักงานของไลน์โมบายก็ถือเป็นพนักงานของ

ดีแทค ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ chief digital officer ที่ขึ้นตรงกับ CEO ของ DTN ทำงานแยกส่วนกันชัดเจนกับแบรนด์ดีแทค ที่มี chief marketing officer เป็นผู้ดูแล เป็นการแข่งขันกันให้บริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า นี่คือการดิสรัปต์ตัวเองของดีแทค”

โดยไลน์โมบายจะเน้นการสร้างบริการที่ดีกับลูกค้า ด้วยการแก้ปัญหาเดิม ๆ ของลูกค้า ทำให้ลูกค้าสะดวกที่สุด โดยมีแค่ 6 แพ็กเกจให้ตัดสินใจง่าย ๆ ในราคาที่ถูกกว่า และเป็นบริการเดียวที่ใช้บริการของแอปพลิเคชั่น LINE ได้ฟรีไม่เสียค่าโมบายอินเทอร์เน็ต ทั้งแชต และ LINE TV รวมถึงเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นของ LINE เพื่อเป็นช่องทางในการบริการลูกค้า ทั้งการจ่ายเงิน คอลเซ็นเตอร์

“การแข่งขันระหว่าง 2 แบรนด์ ทำให้เกิดความกดดัน ความขัดแย้งกับพนักงานแน่นอน แต่เป็นข้อดีที่จะเป็นแรงผลักดันให้ทั้ง 2 แบรนด์ดีขึ้น และด้วยราคาของไลน์โมบายที่ถูกกว่า จึงจะมีลูกค้าดีแทคบางส่วนย้ายมาใช้แน่ แต่ไม่ใช่ทั้ง 20 กว่าล้านรายของดีแทคทั้งหมดแน่ ๆ เพราะไลน์โมบายเจาะกลุ่มดิจิทัลกับออนไลน์เท่านั้น จึงเชื่อว่าจะไม่เข้ามาแทนที่แบรนด์ดีแทคทั้งหมด แต่จะช่วยดึงลูกค้าจากค่ายอื่นเข้ามาด้วย จึงเชื่อว่าจะเป็น win-win กับ DTN โดยรวม แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกเป้าหมายลูกค้าหรือ KPI ได้ เพราะช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ฯห้ามให้ข้อมูล”

ส่วนเหตุผลที่ไลน์โมบายสามารถให้ลดค่าบริการให้ลูกค้าได้มาก เนื่องจากลดต้นทุนด้านการบริหารศูนย์บริการรวมถึงพนักงานดูแลลูกค้า ซึ่งปัจจุบันเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากที่ต้องใช้ แต่ไลน์โมบายจะใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งหมด

“ยืนยันว่า ไลน์โมบายไม่ใช่ MVNO หรือผู้ให้บริการแบบเช่าใช้โครงข่ายบริษัทอื่น เพราะไลน์โมบายเป็นส่วนหนึ่งของ DTN จึงเป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่าย และไม่ได้ทำให้รัฐบาลได้เงินค่าธรรมเนียมน้อยลง เพราะค่าบริการที่ลูกค้าจ่ายให้ไลน์โมบาย จะเข้า DTN ทั้งหมด ซึ่งนำไปคำนวณค่าไลเซนส์เงินสมทบกองทุน USO ที่คิดจากรายได้รวมก่อนหักค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ใบเสร็จที่ลูกค้าได้ก็ออกในนาม DTN จากนั้นดีแทคนำรายได้ไปจ่ายค่า royalty fee ให้กับ LINE เป็นการให้สิทธิ์ใช้แบรนด์ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าจ่ายในอัตราเท่าไร เพราะเป็นความลับทางการค้า และแม้ว่าสิทธิ์ใช้แบรนด์LINE จะมีระยะเวลากำหนด แต่ก็เป็นการทำสัญญาระยะยาวและสามารถต่อสัญญาได้ การสิ้นสุดบริการไลน์โมบายจึงจะไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้แน่นอน”

และมั่นใจว่า ไลน์โมบายดำเนินการตามกฎระเบียบของ กสทช.ทั้งหมด กรณีการลงทะเบียนยืนยันตัวบุคคล หากต้องการให้เก็บลายนิ้วมือลูกค้า ก็สามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนการส่งซิมให้ลูกค้า จึงมั่นใจว่า กสทช.ไม่สามารถระงับการเปิดให้บริการของไลน์โมบายได้แน่นอน


“การดิสรัปต์ตัวเอง เป็นเรื่องใหม่ในตลาด จึงเกิดคำถามในสังคม แต่ข้อเท็จจริงคือ ไลน์โมบายไม่ใช่แบรนด์ที่ 2 บนโครงข่ายเดิม เป็นเจ้าแรกในไทย ก่อนนี้ก็เคยมีแบรนด์ YOU (ของเอไอเอส) และจากข้อมูลของ GSMA มีการให้บริการแบบนี้มากกว่า 260 รายทั่วโลก ส่วนเรื่องจะขยายไปกับประเทศอื่น ๆ ที่เทเลนอร์เข้าไปลงทุน ยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้คิด เพราะมุ่งจะพัฒนาบริการลูกค้าให้ดีแน่นอน”