ก้าวข้ามกับดักประเทศ แก้จุดอ่อน-เพิ่มงบฯสร้างนวัตกรรม

นวัตกรรมและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ประกาศเป็นเป้าหมายกว่า 3 ปี หวังหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แต่ทิศทางการผลักดันและผลที่เกิดขึ้น “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดมุมมองไว้ในงาน “เศรษฐกิจคิดใหม่” BOT Symposium 2017 : Innovating Thailand เมื่อเร็ว ๆ นี้

ประธาน TDRI ย้ำว่า พลังของเทคโนโลยีดิสรัปชั่นทุกวันนี้รุนแรงมาก เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสในเวลาเดียวกัน เพราะทำให้บางอย่างที่ประเทศไทยเคยถนัดเคยสร้างรายได้ ได้มากก็หายไป แต่ในอีกด้านก็เป็นโอกาสในการก้าวกระโดด และทำให้ต้องหาเป้าหมายใหม่ในการผลิต ต้องจินตนาการถึงโลกของอุตสาหกรรมการผลิตที่ทำให้เกิดความไม่ขาดแคลนสินค้าต่าง ๆ อีกต่อไป เพราะการผลิตใช้ระบบอัตโนมัติ ทำให้ต้นทุนถูกลง เวลาคนว่างมากขึ้น จึงมีเวลาหาความสำราญในชีวิตมากขึ้น ประเทศไทยจึงต้องปรับตัวจากอุตสาหกรรมการผลิตแบบเดิมไปสู่แบบใหม่ ที่เครื่องจักรทดแทนไม่ได้ คือเป็นการผลิตงานฝีมือ เป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะส่วนบุคคลมากขึ้น ทำในสิ่งที่คอมพิวเตอร์จะมาทดแทนไม่ได้ และด้วยคนมีเวลาและมีเงินมากขึ้น คนก็อยากไปเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นอนาคตของประเทศไทยได้ แต่ต้องทำแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ซึ่งต้องทำอีกหลายอย่าง

“เมื่อวัตถุเป็นของที่หาง่าย คุณค่าทางจิตใจจะเป็นของที่สำคัญมากขึ้น เพอร์ซันนอลเซอร์วิสที่ผนวกกับบริการประเภทนี้จะเป็นทางออกของประเทศไทย แต่ต้องวางตำแหน่งทางธุรกิจและพัฒนาโมเดลธุรกิจของประเทศให้ชัดเจน”

จุดอ่อนอีโคซิสเต็มไทย

ขณะที่จุดอ่อนของอีโคซิสเต็มในไทยที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาที่ไม่เชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรม

“มหาวิทยาลัยในไทยมีปัญหาที่สปีดช้ามากและไร้จุดหมายว่าจะเอางานวิจัยไปทำอะไร ขณะที่ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังดิสรัปชั่น สปีดเป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องเกาะไปกับคนที่เร็วกว่าและคนที่รู้ทิศทาง คือภาคเอกชนในประเทศที่รู้ว่าจะเอานวัตกรรมไปผลิตสินค้าและบริการอะไร และองค์กรหรือมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่พัฒนาระบบนวัตกรรมมีความชัดเจน ระบบลงตัวและรู้ทิศทางของตนเอง”

ดึงดูดเงินลงทุนเชื่อมต่องานวิจัย

ขณะที่รัฐบาลชอบดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างที่กำลังทำโครงการ EEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก แต่ที่เป็นห่วงคือ การดึงดูดการลงทุนมีต้นทุนสูงมาก ถ้าไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ที่ตกกับประเทศได้ ความคุ้มค่าจะไม่มี

ตัวอย่างบริษัทโลกที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว อย่างฮาร์ดดิสก์หรือรถยนต์ แต่มีความเชื่อมโยงกับระบบนวัตกรรมในไทยน้อยมาก ทั้งที่มีงบฯทำวิจัยสูง อย่าง บริษัทซีเกท จ้างงานคนไทยหลายหมื่นคน แต่ละปีลงทุนวิจัยพันกว่าล้านบาท และจดสิทธิบัตรหลายสิบสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา แต่ทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยในไทยเพียง 30 ล้านบาท เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยไหนไปคุยกับเขาแล้วรู้เรื่องหรืออยากทำงานร่วมด้วย

“มหาวิทยาลัยอยู่ในโลกของตัวเองที่เป็นคอมฟอร์ตโซน ไม่รับโจทย์อันท้าทายของภาคเอกชนไปวิจัย นี่คือจุดบอดของระบบนวัตกรรมของประเทศไทย ดังนั้นต้องปรับไฟแนนซิ่งโมเดลของสถาบันวิจัยภาครัฐและมหาวิทยาลัย ให้เอื้อต่อการทำงานร่วมกับภาคการผลิต”

เพิ่มสัดส่วนงบฯวิจัยต่อจีดีพี

เหตุที่นวัตกรรมของประเทศไทยอ่อนแอเพราะ 1.ใส่เงินวิจัยน้อยเกินไปมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งจะต้องลงทุน 2% 3% ของจีดีพีต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษกว่าจะเกิดดอกเกิดผล แต่ไทยลงทุนแบบมีร้อยใส่สลึงเดียว ก็คือ 0.25% ของจีดีพี แล้วจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร ต้องมีการลงทุนเพิ่ม และทำโจทย์จริงที่ใช้ได้กับภาคธุรกิจ

รัฐถอยจากการเป็นอุปสรรค

“ต้องตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมได้ แม้ว่าภาครัฐจะอ่อนแอ ภาคราชการจะเสื่อมความสามารถลงทุกวัน นั่นคือ ให้ภาครัฐถอยออกจากการเป็นอุปสรรคของการสร้างวิจัยและนวัตกรรมในทุก ๆ ด้าน โดยให้จัดสรรทรัพยากรสมทบกับภาคเอกชนกับภาคสังคมที่มีโจทย์ชัดเจนให้เขาทำงานได้ เช่น แมตชิ่งฟันด์ รัฐเข้าไปสมทบ 1 เท่า 2 เท่าก็แล้วแต่”

ส่วนมาตรการภาษีที่ใช้เป็นหลักให้ลดหย่อนได้ 300% แต่คนที่จะได้ประโยชน์คือบริษัทขนาดใหญ่ การศึกษาของ TDRI ชัดเจนว่า ประโยชน์ตกกับบริษัทขนาดใหญ่ แต่ SMEs หรือสตาร์ตอัพจะไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะสตาร์ตอัพที่ขาดทุนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ 5-10 ปี

“เราเสียเงินกับเรื่องไม่เข้าท่ามากมาย ถ้าเอามาลงให้คนกับภาคการผลิตที่ขาดคน โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม รวมถึงแก้ปัญหาตั้งแต่การส่งนักเรียนทุนไปต่างประเทศที่ยังสะเปะสะปะ ไม่มีติดตามตรวจสอบ กรณีหมอฟันหนีทุนจึงเกิดขึ้น และต่อให้ไม่หนีทุน ก็ใช่ว่ากลับมาแล้วจะโปรดักทีฟได้ มีตัวอย่างมากที่นักเรียนทุนปริญญาเอกรัฐ กลับมายังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ตรงไหน มีปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ”

การศึกษาแก้เหลื่อมล้ำดันเติบโต

ทางแก้คือขอให้รัฐจัดเงินจัดคนให้ถูกวิธี แก้กฎระเบียบที่เป็นปัญหา และการเปิดเสรีในสาขาที่ยังมีการแข่งขันที่ไม่เพียงพอ เพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ธุรกิจจะทำนวัตกรรมได้โดยมีความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด เริ่มจากการยกเลิกใบอนุญาตที่ไม่จำเป็นในการเข้าสู่อุตสาหกรรม ลดอุปสรรคที่เป็นปัญหาของภาคการผลิต

ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างการเติบโต มีเครื่องมือเดียวที่ทำได้ คือ คุณภาพการศึกษาที่ดี ซึ่งเป็นคนละโจทย์กับการสร้างนวัตกรรม เพราะหน้าที่ของนวัตกรรมคือสร้างการเติบโต แต่การยกระดับคุณภาพการศึกษาช่วยได้ทั้งลดความยากจนและให้เติบโตก้าวกระโดดจึงต้องเร่งทำ