ทำความรู้จัก “เพลย์เวิร์ค” ผู้คว้าเงินเยียวยา 1.6 พันล้าน?

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 บมจ.อสมท. ร่วมกับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด คู่สัญญา แถลงข่าวความร่วมมือบริการบนคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz ด้วยเทคโนโลยี Broadband Wireless Access (BWA)

เป็นไปตามคาดว่า มติของที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อ 10 มิ.ย. 2563 ให้จ่ายเงินเยียวยาให้ บมจ.อสมท เป็นเงิน 3,235.83 ล้านบาท ชดเชยการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ก่อนกำหนดเพื่อมาประมูล 5G ไม่สามารถยุติปัญหาที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 2557 ได้ และยิ่งร้อนฉ่าเมื่อให้ อสมท ต้อง “แบ่ง” เงินเยียวยาให้ “เพลย์เวิร์ค” กับคู่สัญญา “เท่า ๆ กัน”

หรือกว่า 1.6 พันล้านบาท แถมล่าสุด “อสมท” บอกปัด “ไม่แบ่ง” และจะยื่นอุทธรณ์มติ กสทช. พร้อมเดินหน้าฟ้องศาลอีกต่างหาก

“สิทธิ” ในคลื่น 2600 MHz ของ อสมท นั้น เริ่มจากปี 2533 เมื่อกรมไปรษณีย์โทรเลขจัดสรรคลื่นให้กับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก ตามมติคณะรัฐมนตรี

โดยการใช้งานคลื่นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก อสมท ได้ร่วมกับเอกชนให้บริการ “IBC เคเบิลทีวี” ภายใต้สัมปทานกับบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด สิ้นสุดสัมปทานเมื่อ 30 ก.ย. 2557 และได้ควบรวมกิจการกับ UBC เคเบิลทีวี กลายเป็นทรูวิชั่นส์

อีกส่วนหนึ่งคือ “ไทยสกายทีวี” โดยบริษัท สยาม บรอดแคสติ้ง จำกัด แต่ได้ยุติการออกอากาศเมื่อ ส.ค. 2540 แม้ต่อมา อสมท จะอ้างว่าได้ใช้งานคลื่นต่อเอง แต่จากการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. ระบุว่า ไม่พบการใช้งานคลื่นดังกล่าวในปี 2556-2557

สำหรับ “เพลย์เวิร์ค” ได้เข้ามามีบทบาทในคลื่น 2600 MHz ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2553 เมื่อ บมจ.อสมท ทำสัญญาทางธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกบนคลื่นความถี่ MMDS กับบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด เป็นเวลา 15 ปี นับจากวันเริ่มต้นประกอบธุรกิจ โดย อสมท ได้ส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 9 จากรายได้หลังหักค่าเช่าโครงข่าย ส่วนเพลย์เวิร์ค ได้ร้อยละ 91

“เพลย์เวิร์ค” มีหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการ การจัดหาอุปกรณ์ระบบการให้บริการ เช่น ระบบบริหารจัดการสมาชิก ระบบจัดการเนื้อหารายการ จัดทำระบบ system platform เป็นต้น รวมถึงการดำเนินการด้านการบัญชี การตลาด การส่งเสริมการขาย รวมถึงการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือต่อเนื่องในการให้บริการกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกบนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ระบบ MMDS และภายหลังจากสิ้นสุดสัญญา จะโอนกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์ระบบการให้บริการทั้งหมดที่ใช้ในการให้บริการภายใต้โครงการให้กับ บมจ.อสมท

ภายหลังเซ็นสัญญาได้ไม่ถึง 3 เดือน “ธนวัฒน์ วันสม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ในขณะนั้น ได้จับมือกับ “ชูชัย ชาญสง่าเวช” ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ เพลย์เวิร์ค แถลงเปิดตัว “Vig TV” โครงการ Ving Broadband TV บรอดแบนด์ทีวีความเร็วสูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยงบฯลงทุน 500 ล้านบาท

และตั้งเป้าจะมีลูกค้า 1 แสนรายในปี 2554 โดยเช่าโครงข่ายจาก บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เพื่อให้บริการ Interactive TV บนโครงข่าย LTE ในโครงการ Broadband Wireless Access (BWA) ซึ่งจะใช้เงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาทแต่แล้วก็เงียบหายไป

จนกระทั่งในปี 2557 มีความพยายามยื่นขอนำเข้าอุปกรณ์จาก กสทช. แต่บอร์ด กสท. (ครั้งที่ 4/2557) ไม่อนุญาต เพราะตามแผนแม่บทถูกกำหนดให้เป็นย่านคลื่นโทรคมนาคม และมติ กสท. (ครั้งที่ 5/2557) ให้สัญญาที่ บมจ.อสมท ให้บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS เพื่อให้บริการโทรทัศน์บนเทคโนโลยีแบบบรอดแบนด์ไร้สาย (BWA) เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการให้บริการโทรทัศน์ประเภทอื่นนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิม แต่เมื่อ 1 ก.ย. 2558 ที่ประชุมบอร์ด กสทช. “เสียงข้างมาก” ได้มีมติ “ยกเลิก” มติของที่ประชุมบอร์ด กสท.ดังกล่าว

แต่กลางปี 2561 “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท และ “ภาวิช ทองโรจน์” กรรมการบริหาร เพลย์เวิร์ค ได้ประกาศเป็นพันธมิตร “เอไอเอส-ทรู” ให้บริการ Broadband Television ด้วยการใช้เทคโนโลยี BWA บนคลื่น 2600 MHz อีกครั้ง

ขณะที่ปัจจุบันบริษัท เพลย์เวิร์ค มีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เม.ย. 2563 มีธราดล โตศุกลวรรณ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ “สริตา วัฒนะจันทร์” ถือหุ้น 60% มูลค่า 18,440,000 บาท อภิญญา เวชพงศา 35% มูลค่า 10,780,000 บาท ชูชัย ชาญสง่าเวช 5% มูลค่า 1,580,000 บาท งบการเงินล่าสุด ณ 31 ธ.ค. 2561 มีรายได้รวม 235,635,650.68 บาท กำไรสุทธิ 26,850,434.83 บาท