สู่อินฟราสตรักเจอร์ประเทศ ‘เอไอเอส’ ปูพรม 5G ‘ไม่หยุดลงทุน’

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส

fall fight future “เมื่อเราตกต่ำก็ต้องพร้อมต่อสู้เพื่อก้าวไปสู่อนาคต” นี่คือวลีเด็ดกระแทกใจแรกในงานประกาศวิสัยทัศน์ล่าสุด “AIS 5G I FORGING THAILAND’s RECOVERY” ที่กล่าวโดย “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส “เอไอเอส”

โดยระบุว่า ในเวลานี้ประเทศไทยได้ผ่านช่วง fall ไปแล้ว และกำลังอยู่ในช่วง fight ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกัน เพื่อให้ future เกิดขึ้นในประเทศไทยเร็วที่สุดภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยได้เปรียบนานาประเทศ

“เอไอเอสมองว่า นอกจากจะต้องทำให้อยู่รอดแล้ว ต้องมีดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ที่แข็งแรงมาก นี่คือโอกาสทองมหาศาลของประเทศเล็ก ๆ อย่างไทย เพราะดิจิทัลทำให้บริษัทเล็ก ๆ ประเทศเล็ก ๆ ชนะบริษัทใหญ่ ๆ ประเทศใหญ่ ๆ ได้ ด้วยการใช้ดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ ทั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพของทุกหน่วยในประเทศและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ”

Boston Consulting Group (BCG) ระบุว่า ขณะนี้ 3 เครื่องจักรหลักของประเทศอย่าง การท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนภาครัฐ ต่างหยุดชะงักทั้งหมด และได้แนะแนวทางว่า“การท่องเที่ยว” ของไทยควรจะต้องเน้นจุดเด่นด้าน health -ศิลปวัฒนธรรมและอาหาร เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ อาทิ การจัดกลุ่มทัวร์เล็ก ๆ ที่เฉพาะเจาะจง “การส่งออก” ต้องมีนโยบายรัฐส่งเสริมจากจุดเด่นที่ไทยมี ที่ดีกว่าการรับจ้างประกอบเท่านั้น ขณะที่ “การลงทุนของรัฐบาล” ต้องอัดเงินเข้าไปในทุกเซ็กเมนต์

ที่สำคัญ คือ ภาคเอกชนกับประชาชนต้องประสานมือเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ให้ได้

อินฟราสตรักเจอร์ประเทศ

ฉะนั้น แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้หลายการลงทุนต้องชะงัก

แต่ “เอไอเอส” ไม่หยุดที่จะลงทุนโครงข่าย 5G” ตามงบประมาณเดิมที่วางไว้ 35,000-45,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินแล้วว่าจะเพียงพอกับการลงทุนตามเป้าหมาย

30 ปีที่ผ่านมา เอไอเอสได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยไปแล้วกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ไม่รวมการส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานกับ บมจ.ทีโอทีกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งยังจ่ายค่าคลื่นความถี่จากการประมูลไปกว่า 2.3 แสนล้านบาท

และล่าสุดได้ขยายเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ตั้งแต่ พ.ค.ที่ผ่านมา

“ถ้าเราไม่ลงทุนในวันนี้ แล้วใครจะลงทุน สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแรก คือ ต้องให้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแข็งแรงก่อน แล้วทุกภาคส่วนจึงร่วมมือกันเพื่อนำเทคโนโลยีไปช่วยฟื้นฟูประเทศไทยอย่างจริงจัง ซึ่งเรากล้าบอกทุกคนว่า เอไอเอส 5G จะเป็นอินฟราสตรักเจอร์ใหม่ของประเทศไทย เราจะไป 5G ไม่ช้าไปกว่าใคร และเทียบชั้นเครือข่าย 5G ชั้นนำอย่างประเทศจีน และเกาหลีใต้”

ที่ผ่านมาศักยภาพ 5G ได้แสดงให้เห็นชัดแล้วในด้านสาธารณสุข ที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการต่อสู้กับ
โควิด-19 ภายใต้ภารกิจ “AIS 5G สู้ภัย COVID-19” 

ปูพรม 5G “ดิน-ฟ้า-ทะเล”

จากนี้จะเห็นการจับมือกับพันธมิตรเพื่อนำศักยภาพ 5G เทคโนโลยีที่ “เร็ว แรง เสถียร” มาใช้เสริมขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และดึงดูดนักลงทุน

โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC)

“เอไอเอสจะปูพรมศักยภาพ 5G ทั้งบนภาคพื้นดิน-ฟ้า-ทะเล”

ในภาคพื้นดิน จะร่วมกับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อมตะ คอร์ปอเรชัน, สหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง,
กลุ่ม WHA เริ่มทดลองสอบ 5G Smart City แล้ว

ภาคทางอากาศ ได้จับมือกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อเริ่มทดลองทดสอบ 5G Smart Airport

และภาคทางทะเล ได้ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เริ่มทดลองทดสอบ 5G Smart Port บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง

เร่งดันดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทย

ทั้งยังจะนำโซลูชั่นใหม่ ๆ ของ 5G เข้าไปสนับสนุนในอุตสาหกรรมค้าปลีก ท่องเที่ยว อาทิ การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงอย่าง AR/VR มาช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ (immersive experience) ให้กับลูกค้าของอุตสาหกรรมบริการ

ที่สำคัญ คือ การสร้าง “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ของคนไทย ที่ภาครัฐต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันและเติบโตได้ เหมือนที่ประเทศจีนสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่ทำตลาดไปได้ทั่วโลก

“เอไอเอสลงมือทำตั้งแต่ปี 2558 แต่ยังทำไม่สำเร็จ ไม่ใช่ไม่มีเงินลงทุน แต่จำเป็นต้องเกิดการประสานจากส่วนต่าง ๆ ทั้งนโยบายภาครัฐที่ไม่ใช่เข้ามากำกับและควบคุม เพื่อให้เกิดรายได้แก่รัฐมากที่สุด เหมือนการประมูลคลื่นความถี่ ความร่วมมือกับเอกชนที่เข้มแข็ง เพราะเราต้องการสร้างอีโคซิสเต็ม ไม่ได้จะทำคอนเทนต์ ทำแบงก์หรือทำเกมแข่ง แต่จะช่วยทำแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการต่าง ๆ ไปถึงมือผู้บริโภค และการที่ประชาชนจะเปิดรับซึ่งจะเกิดประโยชน์ได้จริง”

โดยในช่วงโควิด-19 ได้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิด digitization หากทั้ง 3 ส่วนร่วมกัน ดิจิทัลแพลตฟอร์มของคนไทยก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นแน่นอน