สรรหา “กสทช.” สเป็กเทพ ? อำนาจกำกับธุรกิจแสนล้าน แถมเก้าอี้อู้ฟู่

โลโก้ กสทช

ปุ๊บปั๊บกระบวนการสรรหา “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ชะงักมาเกือบ 3 ปี ทั้งที่บอร์ดชุดแรกและชุดเดียวหมดวาระตั้งแต่ ต.ค. 2560 แต่ได้อำนาจตามมาตรา 44 คำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ระงับไว้ถึง 4 ครั้ง ก็เริ่มต้นขึ้น

แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช.เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คาดว่าไม่เกินกลางเดือน ก.ค. 2563 กระบวนจะเริ่มขึ้น หลัง ครม.ส่งหนังสือแจ้งมติไปถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ผู้มีหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการเรียบร้อยแล้ว

โดยเชื่อว่าจะมีผู้มาสมัครล้นหลามแม้อาจจะได้ทำหน้าที่ไม่นาน เพราะสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ได้มีการตกลงกันไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ที่กำลังแก้ไขจะระบุในบทเฉพาะกาลว่า “ให้บอร์ดชุดนี้สิ้นสภาพ เมื่อ พ.ร.บ.ใหม่ประกาศใช้”

เก้าอี้อู้ฟู่-คุมอุตสาหกรรมแสนล้าน

เหตุเพราะ กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลกิจการบรอดแคสต์และโทรคมนาคมที่มีมูลค่าหลายแสนล้าน ทั้ง 1 ปีจากนี้มีภารกิจสำคัญคือ “การประมูล” คลื่น 3500 MHz ที่อยู่ภายใต้สัมปทานดาวเทียมไทยคม เพื่อทำ 5G ก่อนสัมปทานหมด ก.ย. 2564 และประมูล “วงโคจรดาวเทียม”

ขณะที่เฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมรายปีของ กสทช. ในปี 2563 ประมาณการไว้ที่ราว 8,723 ล้านบาท แถมยังตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เอง เพียงแต่ต้องเสนอให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ความเห็นก่อน

ส่วน “เงินเดือน” กรรมการ กสทช. เหมาจ่ายรายเดือน 269,000 บาท ประธานบอร์ดเหมาจ่ายเดือนละ 335,850 บาท แล้วยังมีงบฯรับรองแขกอีกเป็นแสน มีสิทธิตั้งที่ปรึกษา คณะทำงาน ซึ่งจะมีเงินเดือนได้ตั้งแต่ 120,000 บาทเรื่อยลงมา ถึงการได้เบี้ยประชุมสูงสุดครั้งละ 10,000 บาท

นอกจากนี้ ประธาน กสทช.ยังเป็นประธาน “กองทุน กทปส.” หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ปัจจุบันมียอดเหลือราว 4,000 ล้านบาทด้วย

“กก.สรรหา” สเป็กเทพ

สำหรับบอร์ดชุดใหม่จะมีแค่ 7 คน น้อยกว่าบอร์ดชุดแรกที่มีถึง 11 คน โดยทั้ง 7 คนจะคัดเลือกตามความเชี่ยวชาญ 7 ด้าน ด้านละ 1 คน ได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

หนึ่งในหัวใจสำคัญของกระบวนการ คือ “คณะกรรมการสรรหา” ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการคัดเลือกเพื่อส่งรายชื่อผู้รับสมัคร “ที่เห็นสมควร” ให้วุฒิสภาโหวตเลือก

โดยบอร์ดจะมาตาม “ตำแหน่ง”

1.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 คน

2.ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโส ที่เคยดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

3.ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

4.กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุม ป.ป.ช.

5.กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุม คตง.

ไม่เว้นวรรค 1 ปี จุดตายเรียบ

สำหรับคุณสมบัติเบื้องต้น คือ มีสัญชาติไทย “โดยการเกิด” อายุ 40-70 ปีไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม อาทิ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในพรรคการเมือง ไม่อยู่ระหว่างถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ไม่ล้มละลาย-ทุจริต ต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือถูกคุมขัง ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิด เว้นแต่โดยประมาท-ลหุโทษ-หมิ่นประมาท เคยถูกไล่ออก-ปลดออก-ให้ออกจากราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนเพราะทุจริตหรือประพฤติชั่ว หรือเคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง

ไม่เป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารที่ปรึกษาและพนักงาน ของนิติบุคคลทำธุรกิจด้านกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ในช่วง 1 ปีก่อน

“เงื่อนไขต้องเว้นวรรค 1 ปี เป็นปัญหาในการตีความมากในการสรรหาหนก่อน เพราะบางฝ่ายก็มองว่า ต้องครอบคลุมทุกองค์กรที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และรวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่อง อย่างกรณีผู้บริหารในสถาบันหนึ่งที่สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นประเด็นเพราะมหิดลได้รับใบอนุญาตช่องทีวีดาวเทียมจาก กสทช.”

กก.สรรหาขีดเส้นคุณสมบัติ

ส่วนคุณสมบัติเฉพาะ คือ ต้องเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือหน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ หรือมียศตั้งแต่พันเอก หรือรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หากเป็นภาคเอกชนต้องอยู่ในตำแหน่งบริหารไม่น้อยกว่า 3 ปี-ไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการ บริษัทมหาชน ที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

หรือมีประสบการณ์ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หรือด้านการบริหารกิจการกระจายเสียง-โทรทัศน์-โทรคมนาคมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี

แต่ก่อนที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะประกาศรับสมัคร คณะกรรมการสรรหาต้องประกาศลักษณะของความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และผลงานของแต่ละด้านที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ก่อน

สูตร 30-30-30-20

จากนั้น สำนักงานเลขาฯ จะประกาศการ “เปิดรับ” ผ่านทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อย่างน้อย 30 วัน

โดยในการสรรหาครั้งก่อนที่ถูกวุฒิสภาตีตกไม่โหวตเลือก สำนักงานเลขาฯได้เปิดรายชื่อผู้สมัครเพื่อเปิดให้ส่งข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นมาให้ประธานสรรหา ได้ ทั้งยังเปิดให้ผู้สมัครได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์รายละ10-15 นาที (แต่กฎหมายไม่ได้บังคับ)

หลังจากนั้น คณะกรรมการสรรหาจะคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือจำนวน “2 เท่า” ของกรรมการที่พึงมีในแต่ละด้านภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายชื่อผู้สมัครจากสำนักงานเลขาฯ

ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ให้เป็นไปตามที่ “คณะกรรมการสรรหา” กำหนด โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละด้านจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกหากคณะกรรมการเลือกไม่ทันใน 30 วัน ก็ให้ส่งเฉพาะ “ด้าน” ที่เลือกทันไปก่อน

จากนั้นเลขาธิการวุฒิสภาจะนำบัญชีรายชื่อพร้อมประวัติเสนอต่อประธานวุฒิสภาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่บอร์ดคัดเลือกเสร็จเพื่อเสนอให้วุฒิสภามีมติเลือกภายใน 30 วัน โดยให้ลง “คะแนนลับ” และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับคัดเลือก


เมื่อผู้ได้รับคัดเลือกประชุมเลือก “ประธานบอร์ด” ชุดใหม่เรียบร้อยแล้วจึงนำรายชื่อบอร์ดชุดใหม่แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาลงมติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป