“Nation Space & Technology” เมื่อไทยคมประกาศจับมือ “แคท”

ดาวเทียมไทยคม
Photo : Facebook - Thaicom PLC.

แม้การร่วมกันลงขันตั้ง “บริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด” บริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.ไทยคม และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยไทยคมถือหุ้น 75% จะถูกประกาศว่า เพื่อเป็นการร่วมกันให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม

แหล่งข่าวระดับสูงภายใน บมจ.กสทฯ ระบุว่า จะเน้นที่การร่วมกันทำธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO : low earth orbit) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมดาวเทียมที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายรายกระโดดเข้ามาลงทุนในโครงการยิงดาวเทียม LEO อาทิ SpaceX ที่ก่อตั้งด้วยทุนส่วนตัวของอีลอน มัสก์ ซึ่งได้รับอนุมัติให้ยิงดาวเทียมแล้ว 12,000 ดวง และทยอยนำขึ้นสู่อวกาศแล้ว 420 ดวง

“โครงการร่วมทุนกับไทยคม จะนำร่องในการให้เช่าสถานีฐานภาคพื้นดินและสิ่งอำนวยความสะดวก เตรียมจะเจรจาเป็นพันธมิตรในการเป็นผู้แทนขายบริการต่าง ๆ ให้กับเจ้าของดาวเทียม LEO ซึ่งตอนนี้ก็กำลังรอประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์แลนดิ้งไรต์ (เกณฑ์การให้บริการดาวเทียมในประเทศไทย)”

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะถูกจับตาว่า อาจจะหมายรวมไปถึงการดึงไทยคมเข้ามามีส่วนในการบริหารดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระหว่างไทยคมกับกระทรวงดิจิทัลฯในเดือน ก.ย. 2564 ซึ่ง “แคท” ได้รับอนุมัติจากทั้งคณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวมถึงกำลังอยู่ในขั้นตอนอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ “แคท” เป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการทรัพย์สินหลังจบสัมปทาน

โดยทรัพย์สินตามสัมปทานที่ “แคท” สามารถเข้าบริหารจัดการได้เลยไม่ต้องรอกระบวนการพิพาทสิ้นสุดคือ ดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งมีอายุการใช้งานทางวิศวกรรมถึงปี 2565 และไทยคม 6 มีอายุการใช้งานถึงปี 2572 แต่สามารถขยายอายุการใช้งานเชิงวิศวกรรมได้อีก 3-5 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้แคทประเมินว่ามีต้นทุนดำเนินการราว 7-8 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งความร่วมมือนี้อาจรวมไปถึงการเป็น “พันธมิตร” ที่แคทระบุถึงทุกครั้งในแผนการเข้าร่วมประมูลวงโคจร GEO (geostationary orbit) สำหรับยิงดาวเทียมประเภทค้างฟ้าดวงใหม่ที่ กสทช.ตั้งเป้าจะนำวงโคจรที่ไม่มีผู้ใช้งานมาจัดเป็น 4 แพ็กเกจเปิดประมูลราวสิ้นปีนี้ เนื่องจาก “ความเชี่ยวชาญ” ในธุรกิจดาวเทียมเป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าประมูล ซึ่งแน่นอนว่า “ไทยคม” คือบริษัทไทยรายเดียวที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้จริง ๆ

จากนี้จนถึง กันยายน 2564 น่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมดาวเทียมไทยที่เงียบเหงามานาน